Tag

quick interview

Browsing

“คุณปู่เราเป็นคนตั้งชื่อซอยสายลม (พหลโยธินซอย 8 ) สมัยก่อนซอยต่าง ๆ จะตั้งชื่อกันเอง โดยมากก็เป็นชื่อที่ทางเจ้าของที่ดินเป็นคนตั้ง เช่น อารีย์จะเรียก “กาติ๊บ” ตามชื่อ นายห้าง อี.แอม กาติ๊บ เจ้าของที่ดินเดิม แต่ซอยสายลม เป็นซอยที่คนซึ่งมาซื้อที่ดินกลุ่มแรกๆ ช่วงประมาณปี 2491 มาร่วมโหวตชื่อกัน คุณปู่เห็นว่าลมมันพัดแรง และคนอื่นก็ชอบ ก็เลยได้ชื่อซอยสายลมแต่นั้นมา

ส่วนสหกรณ์พระนคร ตรง BTS อารีย์ เป็นห้างที่ชึ้นชื่อเรื่องคุณภาพของสินค้ามานาน ในอดีตพื้นที่ตรงนั้นคนแถวนี้รู้จักกันในชื่อ “บ้านหม่อมเกี่ยว” (ราชสกุล ทินกร สืบเชื้อสายจากรัชกาลที่ 2) ซึ่งเป็นคุณทวดเราเอง ตระกูลทินกรตัดสินใจขายที่ตรงนั้นแก่สหกรณ์พระนคร พ่อเราเป็นคนซอยสายลม ส่วนแม่มาจากตระกูลทินกร เขาเจอกันที่อื่นแต่เพิ่งมารู้ว่าเป็นเพื่อนบ้านกันทีหลัง”

“ทำไมเกษตรกรไทย แม้จะทำงานหนัก แต่ก็ไม่ทำให้รวยขึ้น?

ก็เพราะว่าผักผลไม้ที่เราหาซื้อได้ทั่วไป เขาสั่งกันทีสิบตันยี่สิบตันก็จริง แต่ส่วนใหญ่มาจากการกดราคากันหลาย ๆ ต่อ กดเสียจนเกษตรกรขายแทบไม่ได้ราคาอะไรเลย คนสวนจะต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ผ่านล้ง ผ่านตลาดไทย แล้วค่อยมาขายให้เราอีกที แต่ละที่ก็คิดกำไรบวกไปเรื่อย ๆ

ของที่มุกขาย มันราคาสูงกว่าก็จริง เพราะมุกรับมาแพง เพื่อให้เกษตรกรได้ราคาที่เขาควรจะได้ เพราะฉะนั้น พี่ ๆ ที่มีรายได้น้อย อาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายในตอนนี้ แต่ในวันหนึ่งถ้าเรารวบรวมความต้องการผลไม้ปลอดสารพิษได้สูงพอ มุกสามารถสั่งในจำนวนเป็นตันได้ ในราคาที่ถูกลง พี่ ๆ คนอื่น ๆ ก็จะสามารถซื้อได้”

“โดนปิดเป็นครั้งที่ 4 แล้วค่ะ ก็หงุดหงิดนะที่ทำอะไรไม่ได้ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงเรานะ ร้าน Oh Vacoda Café  ไม่ไปไหนแน่นอน ถามว่ามันเข้าเนื้อไหม มันเข้าเนื้อมานานแล้ว เพราะย่านอารีย์ค่าเช่าไม่ใช่ถูก ๆ แต่เรายังพอมีงานประจำทำกันอยู่ ร้านปิดเราก็เอาพื้นที่ตรงนี้มาใช้เป็นที่ทำงานไปด้วย รับออเดอร์ไปด้วย มันคือร้านที่เราทำเพื่ออุ้มชูจิตใจมากกว่าอะค่ะ เราชอบอะโวคาโดมาตั้งแต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเลย ร้านนี้ทำให้เราได้ทดลองทำนั่นทำนี่กับสิ่งที่เรารักไปเรื่อย ๆ อันนี้คือสิ่งที่ทำให้พวกเราไปต่อกับมันได้จริง ๆ”

“บ้านเราอยู่กัน 6 คน ส่วนมากอายุ 60-80 กันแล้ว ไม่ได้ออกจากบ้านกันเป็นเดือน มีเรานี่แหละที่เสี่ยงเป็นพาหะที่สุด เพราะต้องมีเดินทางไปดูหน้างานบ้าง ก็มีกดดันเหมือนกัน ส่วนผู้ใหญ่เราว่าเขาก็เครียดนะที่ต้องมาปรับวิถีชีวิตใหม่ วัยเราต้องหาวิธีให้พวกมีเขาไม่กังวล ยังรู้สึกว่าชีวิตยังเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือปลอดภัย

เราโชคดีที่ผู้ใหญ่บ้านเราเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เขาพร้อมเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัย ยกตัวอย่างเลย ป้าเราจากที่เคยไปตลาดสด ตอนนี้ต้องกดคลิกหาผักในเว็บแทน ซึ่งป้าต้องเปิดใจว่าผักออนไลน์อาจจะไม่เพอร์เฟกเท่าไปจับเองที่ตลาด แต่มันเซฟกว่า ส่วนลุงอยากซื้อของใช้ ก็ต้องเปลี่ยนให้ซื้อผ่านแอปแทน เราก็ต้องช่วยกรองให้ไม่โดน AI โฆษณาเกินจริง และเผลอกดจ่ายไม่รู้ตัว

ฟังดูอาจเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ลองนึกว่า ผู้ใหญ่เขาเกษียณหมดแล้ว เขาไปไหนไม่ได้ มันเปลี่ยนชีวิตเขาและต้องอยู่กับเทคโนโลยีแบบนี้ถือว่าเขาเปิดใจมาก ๆ นะ ส่วนเราต้องใจเย็นกับพวกท่านมาก ๆ ด้วย เราอยู่กับเทคโนโลยีมานานกว่าเราต้องสอนเขาได้”

“จากที่เคยมีตู้เย็น 8 ตู้ มีครัวใหญ่ ๆ สะดวกสบายที่ร้าน Dag ตอนนี้ก็มาแย่งตู้เย็นกับแม่ที่บ้าน 🤣 ตอนนี้ร้านปิดชั่วคราวไปแล้ว ก็เลยเกิดเป็น “น้องแวนโภชนา” ทุกอาทิตย์ผมจะคิดเมนูขึ้นมาให้คนแถวนี้สั่ง (อารีย์-สะพานควาย) แต่ละเมนูคิดเอง รูปประกอบก็ไม่มีเพราะยังไม่ได้ทำ ไม่รู้จะออกมาเป็นยังไง แต่มันก็มีคนสั่งตลอดนะ อาทิตย์หนึ่งผมก็จะส่ง 2 รอบ รอบละ 20 ที่ ทำเอง ขี่มอเตอร์ไซค์ตะลอนส่งเองตามบ้านทุกออเดอร์เลย แต่ละเมนูมันก็เป็นการทดลองกับวัตถุดิบต่าง ๆ ของผมไป เหมือนเป็นช่วงนี้เป็นช่วงที่ผมได้พักจากความเครียดด้านธุรกิจมากกว่าครับ”

ติดตามร้านและเชฟแวนได้ที่ Instagram

“นามสกุลผมเป็นภาษาเยอรมันแปลว่า ไร่องุ่น (Weinberge) ตอนเด็กทำงานในไร่องุ่นเก็บเงินไปทัศนศึกษากับโรงเรียน โตมาตอนนี้ได้มาเป็นผู้จัดการร้านอาหารอิตาเลียนและไวน์แห่งอารีย์ บังเอิญดีเนอะ ผมอยากบอกเพื่อน ๆ คนไทยที่ประหม่าเวลาสั่งไวน์ ไม่มีความรู้ ว่าไม่ต้องกลัวนะครับ มันไม่มีกฏตายตัวหรอก ผมเองก็ดื่มไวน์ขาวกับเนื้อแดงก็เพราะผมชอบแบบนี้อะ ใครจะทำไม มันก็ง่าย ๆ แค่เลือกว่าอยากกินไวน์ชนิดไหน รสชาติความหนักเบาแค่ไหน ไม่รู้ชื่อก็ให้พนักงานเราแนะนำได้ ที่สำคัญ ไม่รู้จะสั่งอะไร ขอชิมก่อนกี่ครั้งก็ได้ไม่คิดเงินครับ

ไว้ร้านกลับมาเปิดแล้วมาดื่มไวน์กันนะ Cantina อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีชาวอารีย์ครับ

“พวกเราเรียนจบมาด้านธุรกิจเพื่อสังคม จากธรรมศาสตร์ เพิ่งจบได้ปีเดียวก็โดนโควิด ทำให้เรารู้ว่าเกษตรกรรายย่อยถูกตัดขาดจากชุมชนเมือง เราเลยหันมาขายผักผลไม้ตรงจากเกษตรกรให้คนกรุงเทพฯ ลูกค้า Happy Grocers ช่วงแรก ๆ ของเราส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเขามีความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และมักรู้ว่าพืชผักที่เขาซื้อมาที่จากไหน

มันทำให้เรานึกขึ้นได้ว่า เออ คนไทยเราเวลาไปซื้อของจากซุเปอร์ฯ เราไม่เคยรู้เลยเนอะว่าผักผลไม้ที่เราซื้อมันมาจากไหน หรือมีผลต่อสิ่งแวดล้อมยังไง ส่วนใหญ่สินค้าออร์แกนิกจะพูดถึงประโยชน์ทางสุขภาพ แต่เราทำอันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะอยากเน้นว่าการซื้อผักผลไม้ตรงจากเกษตรกร มันสร้างรายได้ให้ชุมชน และเราก็ได้เห็นว่ามันดีต่อดินและไม่มีสารพิษจริง ๆ ด้วย”

“พาน้องมาเดินเล่นค่ะ น้องชื่อ มานุ จริง ๆ แล้วมันเหมือนกลับกันมากกว่า ฉันรู้สึกเหมือนมานุพาฉันมาเดินเล่น เพราะฉันว่าฉันต่างหากที่ต้องการอากาศหายใจ ต้องออกมาเดินข้างนอกบ้าง ฉันเคยอยู่อารีย์ซอย 4 นี่แหละค่ะ แต่ตอนนี้ย้ายไปอยู่พหลฯ ซอย 3 แต่ถ้าจะพาหมามาเดินเล่นเราก็จะเรียกตุ๊กตุ๊ก MuvMi มาเพื่อที่จะมาเดินในอารีย์ ฉันคิดว่ามันเหมาะกับการเดินมากกว่า ถนนเงียบกว่า แต่มานุเข้าสวนสาธารณะไม่ได้ (เพราะเป็นสถานที่ราชการ) แต่ตอนนี้ไม่ว่าฉันหรือมานุก็เข้าไม่ได้ทั้งนั้นแล้วค่ะ เพราะสวนสาธารณะมันปิดหมดแล้ว”

“แถวนี้เขาเรียก “ป้าญาหนมจีบ” จ้า เข็นขนมจีบขายแบบนี้มาตั้งแต่ปี 57 แล้ว เช้ามาทำเสร็จก็เริ่มเข็นขายมาตั้งแต่พหลฯ ซอย 1 ตรงอนุสาวรีย์ฯ นู้นแหน่ะ ก็ขายมาเรื่อย ๆ พอ 5-6 โมง ก็มาถึงอารีย์พอดี ก็จะมาหันหัวกลับตรงนี้แหละจ้า คนอารีย์นิสัยดีนะ ป้าก็พลอยอารมณ์ดีไปด้วย ถ้าอร่อยก็จะมาซื้อใหม่แล้วก็ชมซะแม่ค้าตัวลอยเลย ช่วงนี้ขายดีไหม? เฮ้อ ก็เงียบนะ ก็พอคืนทุนก็โอเคแล้วนะ เว้นเสียแต่ว่าถ้าวันไหนฝนตกมาก็คือจบเลย เละ”

“ตอนที่ต้องกักตัว 14 วันเพื่อเข้าประเทศไทย ผมใช้วิธีการเล่นเกม The Sims เพื่อใช้ชีวิต (ทิพย์) ผ่านตัวละครในซิมส์แทนเอา ผมสร้างตัวเองในซิมส์ สร้างบ้านที่เคยอยู่ที่อเมริกา สร้างเพื่อน ๆ แล้วก็เริ่มรู้สึกคิดถึงบ้านขึ้นมาซะงั้น ผมตัดสินใจมาอยู่ไทยตอนที่สถานการณ์โควิดที่อเมริกาย่ำแย่และในไทยดูไม่มีปัญหาอะไร พอตอนนี้ดันกลับกัน ผมก็ได้แต่รอให้ประเทศไทยดีขึ้นไว ๆ เพราะผมอยากสัมผัสการใช้ชีวิตที่นี่ แต่ก็ยังดีที่ถึงแม้จะออกไปไหนไม่ได้ แต่ก็มีเพื่อนที่สนิทกันผ่านเกมมากมาย ทำให้รู้สึกว่ายังมีอิสระ ได้พบปะสังสรรค์กับผู้คนอยู่บ้าง มันเป็นวิธีหนึ่งที่จะรักษาจิตใจ ในสถานการณ์ที่วันที่ไม่มีคนใหม่ ๆ ให้เจอครับ”

(ไปดูเบนได้ที่ twitch)