ตะวันคล้ายจะเลยคล้อยขอบฟ้าไปแล้ว ฉันบึ่งจากการสัมภาษณ์ร้านซ่อมรองเท้าที่แฟลตพิบูลวัฒนา มาที่อารีย์ซอย 2 วันนี้ฉันนัดกับเจ้าของรถเข็นขายปลาหมึกย่าง ที่มีหน้าตาโดดเด่นไปจากรถเข็นทั่วไป มองผ่าน ๆ คล้ายรถเข็นไม้ ขายบะหมี่แบบญี่ปุ่นโบราณ ตั้งแต่มันมาตั้งอยู่ตรงเวิ้งลานจอดรถนี้ ใครต่อใครก็ต่างพากันถ่ายรูปเมื่อเดินผ่าน มันคือเจ้าของเดียวกันกับ Summer Street ร้านปิ้งย่างดังของอารีย์
รถเข็นขายปลาหมึกนี้ มีชื่อว่า ซัมป็อก สตอล (Sumpok Stall) เราจะได้คุยกับพี่ออย พี่ก้าบ สองในสามของผู้ที่อยู่เบื้องหลังร้านเล็ก ๆ แห่งนี้ ที่มีสไตล์ติดดิน ยียวน เป็นกันเอง และมีความพิถีพิถันแบบนักออกแบบครอบอยู่
คุณเชื่อไหมว่าบรรยากาศของร้าน Summer Street ที่เพิ่งอธิบายไปนั้น มีลักษณะเหมือนกับตัวผู้ก่อตั้งไม่ผิดเพี้ยน!
รู้จักเจ้าของ Summer Street
หลังจากกินปลาหมึกย่างหนึบ ๆ กับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสจัดจ้านแล้ว พี่ออย พี่ก้าบ ก็นั่งลงขนาบฉันซ้ายขวา พร้อมจะให้สัมภาษณ์ ตอนนั้นเป็นช่วงหัวค่ำ เรานั่งอยู่ในซอย ริมถนน มีมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านไปมา
พี่ออยเป็นผู้หญิงมาดเท่ ๆ ดูแล้วท่าทางจะโหดเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ส่วนพี่ก้าบเป็นผู้ชายดูท่าทางใจดี แต่พูดจาฉะฉานน่าฟัง ทั้งสองคนมีงานหลักที่ทำมาตั้งแต่อดีตก่อนเปิดร้าน Summer Street มาถึงปัจจุบันนั่นคือการเป็นนักออกแบบ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมร้านต่าง ๆ ของพวกเขาทั้งสองคนนี้แม้ดูติดดิน แต่ก็ดูความดึงดูด เข้าถึงได้
“พวกพี่เคยทำงานอยู่ตรงตึกแถวตรงข้าง ๆ Dice นี่เอง เมื่อหลายปีมาแล้ว เคยเดินมาหาอะไรกินตรงนี้เป็นประจำ เวิ้งตรงนี้แต่ก่อนมันเป็นชุมชน มีตึกแถวอยู่หนาแน่นเลย แต่ก็ค่อนข้างขาดการดูแล”
แต่ก่อน ตรงหัวมุมตรงที่เราอยู่จะมีแม่ค้าส้มตำ เราก็มากินบ่อย จนหลัง ๆ เหมือนเขาจะย้ายออก ก็เลยชวนเล่น ๆ ว่ามาขายแทนไหม เราก็แบบ เฮ้ย อย่าทำเป็นเล่นนะ คิดจริงนะ
ยุคแรก: Summer Street ณ อารีย์ซอย 2 (2014-2017)
“เอาจริง ๆ ร้านเรามันก็คือร้านสตรีตฟู้ดอะแหละ”
นี่คือคำตอบของสองพี่ หลังจากถามว่าตอนจะทำร้านนี้ขึ้นมามีไอเดียอะไรในหัว แต่เรากำลังพูดถึงร้านปิ้งย่างหน้าตาแบบริมทะเลที่อยู่ในซอยแบบชิว ๆ มีรถพ่วงคันเล็ก ๆ ที่หน้าตาคล้ายรถบ้านเคลื่อนย้ายได้ที่หุ้นส่วนทั้งสามออกแบบกันเอง มีซุ้มเล็ก ๆ ที่มีโต๊ะไม่กี่โต๊ะ แต่ละโต๊ะมีเตาถ่านเล็ก ๆ สำหรับย่างอาหารทะเล และที่นี่คือที่แรก ที่เสิร์ฟอาหารทะเลเป็นถาดให้ลูกค้าเลือกเซ็ตที่ต้องการแบบคิดมาให้แล้ว ต่างจากการไปกินซีฟู้ดตามทะเลที่เราจะต้องเลือกว่าเอาอะไรกี่กิโลฯ
ภาพร้านช่วงเย็น และค่ำ (ภาพจาก Wongnai)
“คือเราอยากได้อะไรที่มันไม่ได้ดูสูงส่งมาก ไม่แปลกแยกจากบริเวณรอบด้าน บางทีเราไปญี่ปุ่นเราก็จะเห็นลักษณะที่เป็น Food Truck แบบนี้ที่เขาขายอิซากายะ ก็เลยรู้สึกว่า เออ ด้วยความที่เราเป็นนักออกแบบกันอยู่แล้ว ก็เลยลองคิดว่าถ้าเราเอาไอเดียนี้มาดัดแปลง ให้มันเข้ากับบริบทของไทย จะเป็นยังไงนะ”
เมื่อร้านเปิดมาปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ดีชนิดที่ว่ามีคนเอาตลับเมตรมาวัดรถพ่วง ถ่ายรูปทุกอย่าง กะว่าจะเอาไปทำเลียนแบบแบบช็อตต่อช็อต ในเวลาไม่นานก็มีรายการต่าง ๆ ติดต่อมาถ่ายเรื่อย ๆ ในที่สุดร้านนี้ก็กลายเป็นจุดสังสรรค์ของชาวอารีย์หลังเลิกงาน และนักกินอาหารทะเลที่ไม่ต้องไปไหนไกล เพราะเรายกทะเลจากภาคใต้ และตลาดปลามหาชัยมาไว้ให้เลย
“เราวางตัวว่าเป็นทางเลือกด้วยแหละ ไม่แข่งขันกับใคร ไม่เทียบกับร้านซีฟู้ดแถวนี้หรือแถวประชาชื่น เราเอาดีไซน์เข้ามาครอบ การจัดอาหารในถาด ดูสัดส่วนอาหาร สีสันต่าง ๆ ให้มันถ่ายรูปสวย เพราะช่วงนั้น IG มันกำลังเข้ามา ก็เลยทำให้คนถ่ายรูปแชร์ต่อ ๆ กันไปเร็วมาก บวกกับกระแส Food Truck ที่กำลังมาช่วงนั้นด้วย ส่วนเรื่องอาหารเราก็เต็มที่ของเราเหมือนกันนะ เพราะเราสามคนก็มีพื้นเพผูกพันกับทะเลอยู่แล้วด้วย”
จนกระทั่ง…
พื้นที่เวิ้งบริเวณตรอกที่เชื่อมระหว่างอารีย์ซอย 1 กับซอย 2 ถูกกว้านซื้อไป ทำให้ทุกคนที่อยู่ตรงนั้นต้องระหกระเหิน หาที่อยู่ใหม่ในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากทราบข่าว
ยุควินเทจ: Summer Street Camp ณ The Camp Vintage Market จตุจักร (2018-2020)
“แม้จะต้องหาที่ใหม่ด่วนแต่เราก็ทำต่อนะ เพราะเราก็ผูกพันกับร้าน พอดีมีตลาดเปิดใหม่ มีพี่คนนึงมาชวนไปทำที่ตลาดนัดวินเทจชื่อ The Camp เป็นตลาดนัดมือสองที่เปิดตลอดตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงเที่ยงคืน เขาก็คัดเลือกร้าน เราก็ส่ง reference ร้านไปให้เขาดู แล้วเราก็ได้ไปเปิดที่จตุจักร”
ในยุคนั้น เราเปลี่ยนไปพอสมควร ดูเป็นร้านที่มีงานตกแต่งงานดีไซน์ชัดเจนยิ่งขึ้น มีการเอารถเมล์เก่า ๆ มาดัดแปลงเป็นครัวร้าน ประดับไปด้วยไฟห้อย และป้ายไฟสวยงามเขียนว่า Summer Street Camp เหมาะกับบรรยากาศวินเทจของตลาดนัด
“ลูกค้าเราพอรู้ว่ามาเปิดตรงนี้ เขาก็ตามมากินนะ แต่น้อยลง เพราะมันเริ่มหายากขึ้น อยู่ในตลาดด้วยก็ต้องหาที่จอดรถ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าใหม่ ลูกค้าเก่าน้อยลง” พี่ก้าบผู้รับอาสาดูแลด้านการจัดซื้ออาหารทะเลจะจำได้หน้าลูกค้าทุกคนได้แม่นยำ
“เราเปิดมาหลายปี ตลกนิดนึงที่เราเห็นช่วงเวลาของลูกค้า ตั้งแต่เขายังใส่ชุดนักเรียน ยังจีบกับแฟน พาแฟนมากิน เลิกกับแฟน เริ่มทำงาน มีแฟนใหม่ แต่งงาน มีลูก บางคนเข้ามาเป็นลูกค้า กลายเป็นเพื่อน ต่อมากลายเป็นเพื่อนสนิท ปรับทุกข์กันอะไรกัน เราเห็นคนที่ผ่านเข้ามาในไทม์ไลน์ของชีวิตจากร้านนี้เยอะเลย”
ในขณะที่เรากำลังนั่งคุยอยู่นั่น ก็มีผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังวิ่งออกกำลังกายผ่านมาพอดี เขากล่าวทักทายทั้งสองคน ก่อนที่พี่ออยจะหันมาบอกว่า นี่คือลูกค้าเราคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในซอยนี้ เขามากินร้านเราจนสนิทกัน ตอนนี้เขากำลังจะแต่งงานแล้ว – ผ่านมาตอนกำลังคุยเรื่องนี้พอดี เหมือนฟ้าส่งมาให้เป็นการยืนยันว่าร้านนี้เขาสนิทกับลูกค้าเขาจริง!
เหมือนไฟดับ…
“เราก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน แต่จู่ ๆ คนก็น้อยลง ไม่ใช่น้อยลงแค่ร้านเรานะ มันน้อยลงทั้งโครงการ มันวูบไปเลย วูบทั้งโครงการเหมือนไฟดับ”
ตลาดนี้จึงปิดตัวไป ทำให้เราต้องหาที่ใหม่อีกครั้ง ประจวบเหมาะกับความต้องการที่จะขยายร้านออกมาเป็นร้านแบบมีครัวเต็มตัวเสียที
ยุคเต็มขั้น : Summer Summer by Summer Street ซอยอารีย์ (2020)
“ก่อนหน้านี้เราขายอาหารสด ให้ลูกค้าปิ้งย่างเอง แต่ตอนนี้เราขยายมาเปิดครัวร้อนของตัวเอง”
Summer Summer เป็นการกลับคืนสู่เย้าชาวอารีย์อีกครั้ง หลังจากการปิดตัวของตลาดนัด The Camp ทั้งสองก็เห็นความสำคัญของทำเลร้านอย่างชัดเจน จึงเลือกกลับไปเปิดที่อารีย์ที่เป็นฐานที่มั่นแฟนคลับเก่า เลือกพหลโยธิน 7 (ซอยอารีย์หลัก) เปิดใกล้กับปากซอย 4 ไม่ห่างจากร้านชื่อดังอย่าง Salt
ร้าน Summer Summer ปี 2020 (ภาพจาก BKK Menu)
ในร้านมีที่นั่งทั้งด้านในและด้านนอก ตกแต่งแบบเป็นลูกผสมระหว่างร้านอิซากายะกับร้านสตรีตฟู้ดข้างทางแบบที่ไม่เคยมีใครเคยเห็นมาก่อน
ยังไม่ทันไร…
“พอมันเป็นร้านอาหารเต็มที่แล้ว เราต้องเซอร์วิสเขา 100% มีหลายอย่างที่ไม่เคยทำ ก็สนุกนะ 2 เดือนแรก แบบเฮ้ย เอาแล้วออย มันมาแล้วเว้ย คนเต็มร้านเลย ปรากฏโควิด… มันเอาตั้งแต่ระลอกแรกเลย ลูกค้าหาย พอล็อกดาวน์ปุ๊บไปต่อไม่ได้เลย”
แล้วหาทางออกกันยังไงในตอนนั้น?
“ก็หาทางออกด้วยการเดลิเวอรี แต่มันก็ได้แค่พยุงตัวนะ ในที่นี้หมายถึง “ขาดทุนน้อยลง” แต่เอาจริง ๆ มันอยู่ไม่ได้หรอก เราแพ้เจ้าใหญ่หมดแหละ อย่าง MK ตอนนั้นทำโปรโมชันเป็ดหนึ่งแถมหนึ่งตัว แบบโอ้โห จะเอาอะไรไปสู้ เป็นพี่พี่ก็สั่ง MK นะ แล้วเรายิ่งเน้นบรรยากาศกินดื่มในร้านด้วย”
“เราก็ยื้อกันมาเป็นปี พอมาถึงระลอก 4 มันเริ่มไม่ไหวละ เริ่มหมดหน้าตัก ทองเทิงของพี่นี่ขายเกลี้ยงเลย”
พี่ออยบอก แม้จะเป็นเรื่องเศร้าแต่น้ำเสียงและนัยน์ตายังบ่งบอกว่าเธอนึกสนุกที่ผ่านประสบการณ์นั้นมาได้
หลังจากระลอกที่สี่ ก็เริ่มไม่มีทุนที่จะดึงดันไปต่อ พนักงานที่อยู่กันมานานก็เริ่มสละเรือ ทั้งเรื่องความเสี่ยงติดโควิดด้วย และได้โอกาสที่จะไปทำงานทีอื่นด้วย ทำให้ทั้งสองตัดสินใจต้องปิดร้านที่มีโอกาสได้ขายจริง ๆ เพียงแค่ 2 เดือนแรกลง
คิดว่านี่คือการปิดตำนานร้านดังอันเป็นแหล่งพักพิงใจของชาวอารีย์เสียแล้ว
ยุคสปิริต : Sumpok Stall (2021)
หลังจากครึ่งหลังของปี 2021 ร้าน Summer Summer ก็ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางอีกหลายธุรกิจร้านอาหารที่ร่อแร่ อยู่ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง พอ ๆ กัน พนักงานหลายคนบ้างก็ไม่สามารถแบกรับความกดดันไหว รวมไปถึงผู้ก่อตั้งทั้งสามเองก็ไม่สามารถจะใช้ทุนที่มีอยู่เพื่อยื้อต่อไปได้
สปิริตที่ยังคงอยู่
“เรามีพนักงานเสิร์ฟชาวต่างชาติสองคน คือ ตี้กับจิ อยู่กับเรามาตั้งแต่สมัยทำร้านเลย 8 ปี ไม่ว่าจะย้ายไปตรงไหนเขาก็ไปด้วย จนมาเปิด SummerSummer ตรงปากซอย 4 เจอล็อคดาวน์สั่งปิดรอบที่ 4 เริ่มไม่ไหวละ ทองเทิงพี่ขายเกลี้ยง ทุกคนเริ่มสละเรือ ตัดสินใจขายอุปกรณ์ต่าง ๆ ปิดร้าน น้อง ๆ คนอื่น ๆ ก็แยกย้ายกลับประเทศไปบ้าง แต่ตี้กับจิ เขาบอกว่าเขาไม่ไปจะอยู่กับช่วยเราต่อ
ปกติคนมากินร้านเรา เขาไม่ได้ชมพี่นะ เขาชมว่าสองคนนี้บริการดี เขาใจสู้ ตอนลำบากเขาก็เสียสละตลอด จนวันนึงพี่ก้าบหุ้นส่วนพี่โทรมาบอกว่า จะลองกันอีกซักตั้งไหม พี่เลยถามว่า เปิดใหม่ครั้งนี้เราทำเพื่อใคร เพราะงานพี่มีทำ มีลูกอ่อนต้องเลี้ยง พี่อาจะไม่ได้เดือดร้อนขนาดนั้น แต่ถ้าเปิดให้น้องสองคนได้มีงานทำพี่เอาด้วย ก็เลยออกมาเป็นร้านปลาหมึกย่าง “ซัมป็อก” ที่เห็นตอนนี้”
พี่ออยบอกกับพวกเราว่า ตอนนี้ไม่ได้คาดหวังอะไรจากซัมป็อกไปมากกว่าการให้ลูกน้องทั้งสองคนได้มีงานทำ ส่วนลูกค้าก็ได้มีที่ที่ได้ไปเหมือนคิดถึงบรรยากาศความเป็นกันเองแบบ Summer Summer อีกครั้ง พวกเขายังอยู่ตรงนี้เสมอ เป็นการเดินทางอันยาวนานของร้านที่อยู่คู่กับชาวอารีย์ แต่การเดินทางนั้นก็ยังคงดำเนินไป รอเรื่องราวตื่นเต้นครั้งใหม่จะบังเกิดอีกครั้ง
ส่วนพี่ก้าบแอบบอกว่า ถ้าอยากได้รถเข็นไม้แบบนี้ ไม่ต้องเสียเวลาเลียนแบบนะ เขาทำขาย!
Comments are closed.