ชาวอารีย์

พบกับผู้คนแห่งย่านอารีย์ – สะพานควาย ทำความรู้จักแง่มุมเล็ก ๆ ในชีวิตของแต่ละคน เปรียบเสมือนการเดินผ่านและทักทายเพื่อนบ้าน ไปจนถึงรับฟังความฝันและเรื่องราวชีวิตของแต่ละคน

“คนร้อยเอ็ดบ้านผมมีปัญหาหนี้นอกระบบกันเกือบหมดแหละครับ เราหาได้ไม่พอ อย่างผมวิ่งมอ’ไซค์ทุกวัน ได้วันละไม่เกิน 500 หักค่าใช้จ่ายที่นี่ ก็ส่งที่บ้านได้ไม่เกิน 5,000 หาได้พอไปจ่ายดอก มีลูกสองคน เรียนม.ปลายแล้ว ดีหน่อยที่ช่วงนี้ไม่ต้องไปโรงเรียน แต่คนที่บ้านไม่มีอาชีพอะไรให้ทำเลย ได้แต่ปลูกข้าว แต่มันก็ขายไม่ได้ราคา ได้แค่ลดค่าข้าวไปได้หน่อย

เราก็พยายามดูแลตัวเอง เป็นรายได้หลักของทางบ้าน บางทีเขาก็มาเยี่ยมยามบ้างที่กรุงเทพฯ ปีละสองสามครั้งนะ แต่ช่วงนี้ก็หาเงินยากขึ้น สมัยก่อนยังมีงานจ้างไปส่งของตามบ้านตามออฟฟิศบ้าง แต่ช่วงนี้คนหันไปใช้ Grab กันหมด ผมเองก็ไม่เก่งเรื่องเทคโนโลยีแบบเขาด้วย”

“เวลาว่างพี่เป็นครูผู้สูงอายุให้รู้จักศิลปะและเทคโนโลยีค่ะ พี่ชอบศิลปะ 20 กว่าปีที่แล้วตั้งใจมาจากอุบลฯ จะมาเรียนเพาะช่างให้ได้ มาเป็นครู และนักเรียนคนแรกของพี่คือพ่อของพี่เองค่ะ ตั้งแต่เด็กมาพี่จะสอนพ่อทำอะไรต่ออะไรตลอด พ่อพี่อายุ 81 แล้ว ช่วงโควิดพี่ไปหาพ่อไม่ได้ พ่อชอบร้องเพลง พี่เลยสอนพ่อใช้ Zoom และเราก็ร้องเพลงผ่าน Zoom ด้วยกัน จนไป ๆ มา ๆ เราก็รู้สึกอยากจะสอนคนสูงอายุคนอื่น ๆ ไปด้วยเลยดีกว่า!

พี่เห็นว่าผู้สูงอายุหลายคน ตกอยู่กับความคิดที่ว่า เขาไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่า บางคนที่พี่เจอ คู่ชีวิตเขาเสียไป ก็เลยขาดผู้นำ ขาดเส้นทางชีวิต เขาต้องการอะไรที่จะเป็นอาชีพ ให้เขาทำ พี่อยากให้พวกเขาออกจากความคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และได้เห็นสิ่งที่ตัวเองทำได้ และพี่ก็ได้เห็นจริง ๆ พี่เห็นคนที่กลายเป็นนักกีฬา เป็นเชฟ เป็นครูโยคะ ตอนอายุมากแล้ว มันทำให้เรามีความสุขค่ะ”

“พวกลุงก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จะต้องปักหลักอยู่ตรงนี้อีกนานเท่าไหร่ แต่เราเหมารถทัวร์กันมาจากกำแพงเพชร และอีกทั่วประเทศ เพื่อมาปักหลักอย่างสันติข้าง ๆ กระทรวงการคลัง หวังว่าเขาจะไม่ลืมสัญญาที่ให้ไว้กับเกษตรกร ว่าจะช่วยเหลือเรื่องหนี้สินของชาวนาอย่างเรา

เราขายข้าวเกวียนนึง ได้ 6,000 บาท แค่ค่าปุ๋ยก็เป็นพัน ๆ เข้าไปแล้ว ชาวนาไม่มีกิน ก็ต้องไปรับจ้างขุดมัน รับจ้างถักแหหาปลา มันไม่พอจ่ายหนี้ที่เรากู้มาทำการเกษตร ยิ่งทำก็ยิ่งจนลง จนตอนนี้หนี้ธกส. มันเต็มจนเขาไม่ให้กู้แล้ว เราเลยมาทวงถามว่าความช่วยเหลืออยู่ที่ไหน

ตอนที่ผู้แทนเขาหาเสียง เขาบอกว่าจะกระจายความเท่าเทียม ก็อยากให้ความเท่าเทียมมันมาจากกรุงเทพฯ ไปหาเกษตรกรต่างจังหวัดบ้าง ไม่เห็นมีใครทำข่าวเราเลย อยากให้มาถามเราบ้าง มาถ่ายรูปพวกเรา ช่วยกระจายข่าวให้คนกรุงเทพฯ รู้หน่อยว่า ชาวนาลำบาก นี่เขาต้องนอนตากยุง ข้าวก็กินที่เขาบริจาค กล่องนึงต้องแบ่งกันห้าคน ถามว่าอยากมาอยู่ตรงนี้ไหม ไม่มีใครอยากอยู่หรอกหนู”

“พอนึกถึงบ้านเกิดที่สงขลาผมจะนึกถึงกลิ่นทะเล เสียงคลื่น กลิ่นฝน และอาหาร ผมโชคดีที่เกิดในจังหวัดที่มีทั้งวัฒนธรรมทั้งจีน ไทย มุสลิม ผมได้เข้าไปในมัสยิด วัดไทยวัดจีน และทุกที่มันมีวัฒนธรรมอาหารของมัน เราคนใต้ กินแกงใต้รสจัดเป็นธรรมดา แต่ผมก็กินอาหารจีน ต้มกระดูกหมูรสชาติเชง ๆ (รสชาติอ่อน ๆ ) ได้ อาหารอิสลามไม่ว่าจะเป็นไก่ฆอและ ข้าวมันแกงไก่จากทางมาลายู เราคุ้นเคยกับความหลากหลายนี้มาตั้งแต่เด็กจนโต

พอเรามีโอกาสได้เข้ามาที่กรุงเทพได้ 10 ปี ด้วยงานที่ทำเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ได้ชิมอาหารจากเชฟดัง ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีความสุขเลยคือ การเดินฝั่งเมืองเก่าเยาวราช เจริญกรุง เพราะสถาปัตยกรรมมันทำให้เรารู้สึกเหมือนเราอยู่ที่บ้าน ได้กินข้าวขาหมุรสชาติเหมือนที่บ้าน ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาบะหมี่ร้านแบบจีน ๆ ส่วนอาหารมุสลิมที่กรุงเทพก็จะออกไปทางแขกอาหรับที่ต่างไปจากมาลายูที่บ้าน ผมว่าวัฒนธรรมการกินมันคือสิ่งที่ผมรักอย่างหนึ่งเลยนะ

ช่วงนี้ผมเปิดร้านเล็ก ๆ เอาอาหารใต้แบบสงขลาแท้ ๆ มาให้ชาวอารีย์ได้ชิม วันนึงถ้ามีเงินมากกว่านี้ผมฝันว่าจะมีร้านที่รับเอาวัตถุดิบอาหารที่จากชุมชนต่าง ๆ จากทั่วประเทศไทยมารวมไว้ที่ร้านผมครับ”

“เป็นคนจังหวัดน่านค่ะ เข้ามาทำงานกรุงเทพฯ ตอนปี 40 เราก็ขายของ ขายเสื้อผ้าแฟชั่นอะไรไปเรื่อย ๆ ที่สยาม ต่อมาโรงหนังสยามมันไฟไหม้ เราก็เลยต้องออกมาที่อยู่ ที่ขายใหม่ เลยมาได้งานเป็นผู้ช่วยร้านขายเครื่องประดับอยู่ที่สหกรณ์พระนคร ได้รายได้วันละ 150 บาท มันก็ไม่พอกินสิ

จนมีพี่คนนึงแกเห็นเราลำบาก อยากช่วย แกเลยให้เงินมา 1,000 บาท จะได้ตั้งตัวซื้อของมาขายแถวข้างทางตรงนี้ แกก็ฝากดูแลหน้าบ้านด้วยเพราะตัวแกไม่อยู่ เป็นเจ้าของสามนางคอร์ทตรงอารีย์สัมพันธ์นู้นแน่ะ เราก็ไปยืมโต๊ะยืมอะไรจากคนอื่นมาตั้งขายเสื้อผ้าไป

พี่ก็ย้ายมาอยู่ตึกข้างหลังนี่แหละ ส่งลูกเรียนโรงเรียนสวนบัว แล้วก็เรียนธุรกิจบัณฑิต ตอนนี้ลูกสาว 25 แล้ว ไปเรียนไปทำงานที่ออสเตรเลีย ลูกสาวเป็นคนรักดี เอาการเอางาน เราก็ภูมิใจของเราเนอะ”

“ย่านอารีย์ทำให้นึกถึงย่านฮงแด (Hongdae) ในโซลสมัยก่อน เพราะมันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปะสำคัญของเกาหลีใต้ เป็นย่านที่มีพลังขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ นักดนตรี ศิลปิน ที่มีอาศัยค่าเช่าไม่แพงมาก ทำให้ในย่านมีวัฒนธรรมส่วนตัวที่น่าสนใจ

แต่สมัยนี้ฮงแดไม่ได้เหมือนแบบนั้นแล้ว พอเป็นที่นิยมมากขึ้น มีธุรกิจรายใหญ่เข้ามาตั้งมากขึ้น มีร้านแพง ๆ เข้ามา ทำให้ราคาที่ดินสูง ค่าครองชีพก็สูงตาม เราเรียกว่า Gentrification ทำให้คนหนุ่มสาวในยุคนั้นต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ถ้าเป็นยุคนี้เราจะบอกเพื่อนที่เกาหลีว่าอารีย์จะคล้ายกับย่านยอนฮีดง (Yeonhui-dong) ที่อยู่ใกล้ ๆ กันมากกว่า ตรงที่มันย่านที่อยู่อาศัยของคนมีเงินมากหน่อย แต่มีคาเฟ่และร้านอาหารที่เงียบสงบ

เราเห็นแรงขับเคลื่อนชุมชนจากคนรุ่นใหม่หลายอย่าง ทั้งเพื่อนบ้านอารีย์ Ari Around ไปจนถึงเพื่อน ๆ ชาวต่างชาติ ที่ทำให้เราสนใจผู้คนในย่านนี้ไปด้วยในหลายประเทศ รัฐที่เข้าใจความสำคัญของพลังจากคนหนุ่มสาวจะพยายามรักษาพวกเขาไว้ในพื้นที่ บางประเทศก็ซื้อตึก หรือโกดัง ดัดแปลงให้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำงานของสำหรับศิลปิน ไม่ให้พวกเขาต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น อย่างในเกาหลีเอง ก็มีการเอาอาคารสำนักงานรัฐที่ไม่ใช้แล้ว มาปรับปรุงให้เป็น co-working space ของเยาวชน พร้อมกับให้ทุนในการริเริ่มทำโครงการของตัวเองด้วย

เราเชื่อว่าคนที่เพิ่งเริ่มทำให้อะไรใหม่ ๆ จะต้องมีพื้นที่ที่จะเจ๊ง ผิดพลาด เพื่อที่เขาจะได้ไปต่อ รัฐมีหน้าที่ช่วยเหลือให้เขากล้าที่จะล้มโดยมีความเสี่ยงน้อยลง เพื่อที่เขาจะได้มาทำอะไรเจ๋งๆ ให้เมืองต่อไป”

“ก่อนที่จะย้ายคาเฟ่ของเราจากสุขุมวิทมาที่ The Yard ตอนนั้นพนักงานเรามีปากกาอยู่ด้ามนึง ตรงปลายปากกาเป็นหัวมิกกี้เมาส์ แล้วมีลูกค้าคนนึง เป็นคนจีน เขาขอยืมปากกาไปถ่ายรูป แบบว่าเอาหัวมิกกี้เมาส์ไปไว้ข้างหนึ่งของตาแล้วถ่าย ปรากฏว่า ไม่นานต่อมา มีนักท่องเที่ยวจีน มาถามว่าปากกามิกกี้เม้าส์แบบในรูปนี้อยู่ไหน แล้วก็ถ่ายตามบ้าง แบบท่าเดียวกัน มุมเดียวกันเป๊ะ ๆ หลังจากนั้นก็มีมาเรื่อย ๆ วันละคนสองคน แบบวันเว้นวันเลย เป็นอะไรที่ประหลาดมาก

บรรยากาศการ cafe hopping กับการมาทานอาหารเฉย ๆ นั้นแตกต่างกันพอสมควร บางคนซื้อแล้ววางอาหารเราทิ้งไว้เลย เพื่อที่จะถ่ายรูป (ตัวเอง) เลยก็มี อาจเป็นเพราะการตกแต่งของร้านเก่าที่สุขุมวิทเพราะเราขายเสื้อผ้าด้วย แต่ตอนนี้ย้ายมาที่ The Yard ได้สองปีแล้ว ก็รู้สึกว่าแนวซื้อเพื่อถ่ายรูปน้อยลงกว่าที่เก่าที่สุขุมวิทมาก ช่วงแรก ๆ อาจมีบ้าง แต่หลัง ๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนมาทานเพราะอาหาร หรือใส่ใจสุขภาพค่ะ”

“สิ่งที่อารีย์ขาดแบบเห็น ๆ เลยคือกิจกรรม มันไม่มีอะไรทำ คนส่วนใหญ่มาอารีย์ มากินข้าว กินกาแฟ มาถ่ายรูป เสร็จแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ ก่อนโควิดร้านเราวางแผนว่าจะ renovate ใหม่ ให้เป็นทีทำกิจกรรม adventure และก่อนหน้านี้ได้ทำแบบไว้เรียบร้อยแล้ว แต่โดนโควิดเสียก่อนเลยต้องพับไป อยากทำมาก ไว้สถานการณ์ดีขึ้น มั่นใจมากขึ้นแล้วค่อยว่ากันอีกทีครับ

ร้าน ฮ Hidden เป็นบ้านเก่ายุคดั้งเดิมของอารีย์ ผมเปิดเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นไม่ได้คิดว่ามันจะต้องเป็นที่รู้จักของหลายคนมาก แค่อยากให้อารีย์มีร้านกาแฟที่เปิดจนดึกได้ จะได้เป็นทีทำงานของผมเองด้วย ร้าน ฮ Hiddenโซนดั้งเดิมของเราจะต้องเดินเลาะกำแพงไปด้านหลัง เป็นมุมเล็ก ๆ ผมก็จะนั่งทำงานอยู่ตรงนั้น บรรยากาศจะง่ายๆเป็นกันเองเหมือนมาร้านเพื่อน ใครมาผมก็จะเดินไปชงกาแฟให้ ชงเสร็จก็มาทำงานต่อ ก็จะเป็นฟีลแบบนั้น – โซนนี้จะเปิดอีกทีหลังโควิดเช่นกันครับ และจะเปิดให้นำสัตว์เลี้ยง น้องหมาแมวมาได้ด้วย ไว้พาน้องๆแวะมากันนะครับ”

“พอโควิดระบาดหนักเมื่อปีที่แล้วผมเสียงานผู้จัดการของ Wine Connection ไป ช่วงนั้นคิดหนักมากครับ ไม่มีงาน ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีวีซ่า คิดว่าทำยังไงก็ได้ให้ได้อยู่เมืองไทยต่อ พยายามกับที่เมืองไทยไปมาก ไม่อยากต้องกลับอิตาลีตัวเปล่า พอดีผมมีโต๊ะตัวนึงที่ใช้เสิร์ฟอาหารเพื่อน ๆ ที่บ้านเป็นประจำ กับประสบการณ์การทำงานบริการ 20 ปี ก็เลยเปิด Chef’s Table ดูในอพาร์ทเม้นต์ที่บางซื่อครับ

ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก มีคนจองทะลุ 5 เดือนเลย พอมีคนรู้จัก The Pasta Apartment เริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นเรื่อย ๆ มีสื่อให้ความสนใจก็ต้องย้ายออกมาตั้งเป็นร้านที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายครับ ผมก็ทุ่มเงินที่หามาได้มาปรับปรุงบ้านหลังนี้เป็นร้านใหม่ที่พิบูลวัฒนา ผมตกแต่ง จัดสวนทุกอย่างคนเดียวหมด ตัดสินใจไม่ติดป้ายหน้าร้าน เพราะที่นี่เป็นที่อยู่ผมด้วย อยากมีโอกาสได้รู้จักกับทุกคนที่จองเข้ามาทานอาหารที่ผมและทีมงานทำครับ”

“ผมก็มีนะ ความฝันที่จะมีชีวิตที่ดี ผมอยากซื้อที่ดินสักแปลง ทำไร่ ทำนาที่บ้านที่ขอนแก่น มีความฝันแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มทำงานเลย ที่บ้านผมจนมาก จำได้ว่า แม่จะอุ้มผมไปที่วัดทุกเย็นเพื่อเอาข้าวสารไปแลกกับข้าวจากพระ พอจบป.3 พ่อก็เสีย ที่บ้านเลี้ยงไม่ไหว ก็เลยตามพี่สาวลงมาทำงานที่กรุงเทพฯ ปี 2520

เราเป็นคนแรกในหมู่บ้านเลยที่มาทำงานที่กรุงเทพฯ สมัยนั้น 11 ขวบเขาก็ให้ทำงานละ ไปเป็นเด็กขนของได้เงินเดือน 150 บาท ได้ตังค์ขนาดนั้นก็เยอะนะ ส่วนพี่สาวก็มาเป็นแม่บ้าน หลังจากนั้นผมก็ทำงานทุกอย่าง ไปมาหมดทุกจังหวัดในประเทศไทย เป็นคนตัดอ้อย เป็นคนขับรถ ทำงานทุกวันมาตลอดชีวิต ก็ไม่เห็นมันจะมีเงินเก็บได้เลย

ตอนนี้ผมอายุ 55 แล้ว มาเป็นรปภ. เดือนนึงหาได้พอแค่เลี้ยงตัวคนเดียว ผมจะเอาที่ไหนมาซื้อที่ดินทำกิน ทุกวันนี้ก็ใช้วิธีการเสี่ยงโชค กินเหล้าทีก็ได้เจอเพื่อนที คิดเสียว่าผมเห็นโลกมาเยอะแล้ว ความฝันคงไปไม่ถึง แต่แค่นี้ก็คงพอแล้วครับ”