วัฒนธรรม อารีย์

อารีย์แพงเกินไปหรือยัง?

คนรายได้ปานกลาง ยังอยู่อารีย์ไหวไหม แพงไปหรือเปล่า? เป็นคำถามท่ามกลางราคาข้าวของสูงขึ้นเรื่อย ๆ ค่าใช้จ่ายการเดินทางที่ไม่มีแววจะถูกลง

จำข่าวหมูแพงเมื่อต้นปีได้ไหม ตอนนั้นนอกจากหมูก็ทำอย่างอื่น แพง ตามไปด้วย เดินไปทางไหนใน อารีย์ ก็เห็นป้ายราคาตามร้านข้าวมีเทปกาวแปะทับ เขียนราคาใหม่ที่ปรับขึ้นไปกันหมด ตอนนี้ผ่านไปสามเดือนแล้ว ไม่รู้ว่าหมูหายเป็นโรคหรือยัง แต่ที่แน่ ๆ ราคาที่ขึ้นไป ดูเหมือนจะไม่กลับลงมาแล้ว

พี่จุ๋ม ร้านก๋วยเตี๋ยว อารีย์

แต่ก่อนห้าทุ่มเที่ยงคืนยังมีคนมากินอยู่เลย เดี๋ยวนี้ไม่รู้จะติดแก๊ซอุ่นหม้อไว้ทำไม สี่ทุ่มก็เก็บแล้ว มันไม่มีคน ข้าวของก็แพง ขึ้นทีกำไรเราก็หาย ก็ไม่พอกิน อย่างอื่นก็ขึ้น พักหลังมานี้เอาแต่ขึ้นอย่างเดียวไม่ลงเลย
พี่จุ๋ม ก๋วยเตี๋ยวกลางคืน ปากซอยอารีย์  

คนรายได้ปานกลาง ยังอยู่ อารีย์ ไหวไหม แพง ไปหรือเปล่า?

จากที่เคยถามไถ่เวลาซื้อกับข้าว พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบต้องปรับขึ้น จะเป็นร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวสตรีตฟู้ดข้างทาง ซึ่งเป็นปากท้องของคนชนชั้นกลางรายได้ไม่สูงมาก ที่ยังจะพอจะอดทนสู้กับค่าเช่าห้องย่านนี้ที่มักเริ่มต้นที่ 8,000 บาท ขึ้นรถไฟฟ้า และต้องซื้อข้าวแกงกินทุกวัน ราคาที่สูงขึ้นทำให้ค่าครองชีพที่สูงอยู่แล้ว สูงขึ้นจนกลายเป็นการใช้ชีวิตที่นี่ยิ่งเข้าเนื้อเงินเก็บไปเรื่อย ๆ

ถ้าคุณมีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 50,000 บาทตอนนี้ ดีใจด้วยนะ คุณคือคนส่วนน้อยมาก ๆ ในประเทศไทย เมื่อปี 63 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า 86.59% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดของประเทศ มีเงินฝากอยู่ไม่เกิน 50,000 บาท ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่ที่น่าแปลกใจคือแทบทุกครั้งที่มีคอนโดใหม่ขึ้นตามเส้นพหลโยธิน มักจะได้ยินว่าโครงการขายหมดเกือบครึ่งภายในวันเดียว สรุปว่าประเทศนี้จะเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีกันแน่

มนุษย์ที่มีเงินในบัญชีน้อยกว่า 50,000 บาทก็คือมนุษย์เดินดินที่ต้องขึ้นรถไฟฟ้าแล้วถูกป้ายโฆษณาตามสถานีกดดันว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ต้องแย่งชิงคอนโดเล็ก ๆ ราคาแพง ๆ ติดบีทีเอสนั่นแหละ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตใจฝันแบบที่การตลาดสะกดจิตแล้ว แต่ก็ไม่วายต้องทอดถอนใจเวลาเจอราคาก๋วยเตี๋ยวที่แพงขึ้น ราคารถไฟฟ้าที่แพงขึ้นอย่างช้า ๆ และอย่างไม่มีวันกลับ

บ้านเกิดเราอยู่ที่หมู่บ้านพิบูลวัฒนา ที่นี่เป็นต้นแบบของหมู่บ้านจัดสรรของประเทศไทย คนส่วนใหญ่ที่มาซื้อโดยมากจะเป็นข้าราชการทหาร คุณตาเราท่านก็เป็นทหารทำงานอยู่แถวนี้เหมือนกัน เลยซื้อที่ไว้แปลงหนึ่ง
โบ นักวิจัย และเจ้าของเพจ  จารย์ไทยในดงผู้ดี 

อารีย์เป็นผู้ดีมาแต่เก่าก่อน จากการคุยกับเพื่อนบ้านที่เป็นเจ้าของบ้านหลังใหญ่โต (และลูกเจ้าของบ้าน) ที่นี่ มักจะพูดตรงกันว่าที่นี่เป็นย่านอยู่อาศัยที่ต้องการความสงบ คนที่อยู่มาก่อนที่นี่ (ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักการเมือง) ไม่ได้มีความกดดันทางการเงินที่จะต้องขายที่ดินที่มูลค่าสูงนี้ไปทำอะไร ราคาที่ดินพหลโยธินซอย 7 จากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครประเมินไว้ที่ 150,000 บาทต่อตารางวา ถ้าเราอยากมีบ้านที่มีความกว้าง 160 ตรม. เราต้องมีเงิน 6 ล้านบาท และนี่คือราคาประเมิน ไม่รู้เหมือนกันว่าเจ้าของที่จะขายให้เราเท่าไหร่ แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์ 86% ทั่วไปคงไม่คิดจะมาซื้อบ้านแถวนี้

แต่เวลาก็เปลี่ยนแปลงไป บ้านเก่าหลังใหญ่ที่เคยเรียงรายริมเส้นพหลโยธินก็ทยอยกลายเป็นคอนโดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดอะไรขึ้นหลังจากมีอาคารสูงเหล่านี้ขึ้นล่ะ คนเยอะขึ้นแล้วหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือ ยิ่งคอนโดแม้แต่ใน อารีย์ แพง เท่าไหร่ คนที่มาอยู่ก็มีรายได้สูงมากขี้นตามไปด้วย ทีนี้แกงถุงอย่างละ 40 บาทจะเปลี่ยนเป็น 80 บาทก็ไม่กระทบกลุ่มนี้สักเท่าไหร่

ย่านอารีย์ขาดอะไร

วันก่อนฉันโพสต์ถามผู้อ่านว่าย่านอารีย์ต้องการอะไร คำตอบส่วนมากคือ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ห้องสมุด หรือรวม ๆ ก็คือพื้นที่สาธารณะ อันเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในกรุงเทพไม่ว่าย่านไหน

การมีสวนสาธารณะและคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นเป็นสิ่งที่ฉันเฝ้าจะเห็นก่อนตายในประเทศนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ตามติดมาพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี คือราคาที่ดินที่แพงขึ้น ยิ่งตรงไหน “น่าอยู่” มาก ค่าเช่าแถวนั้นก็จะแพงขึ้นตามเป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติของความเจริญเนอะ แต่เราต้องอย่าลืมเช็กว่านั่นคือความต้องการของชนชั้นกลางรายได้สูงหรือเปล่า เราจะทำพื้นที่สาธารณะอย่างไรที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสาว 28 ทำงานครีเอทีฟโฆษณา กับพี่วินมอเตอร์ไซค์รายได้วันละ 400 บาทสามารถอินกับประโยชน์ของมันได้เท่ากันด้วย

Om, Owner of Hor Hidden Cafe

สิ่งที่อารีย์ขาดแบบเห็น ๆ เลยคือกิจกรรม มันไม่มีอะไรทำ คนส่วนใหญ่มาอารีย์ มากินข้าว กินกาแฟ มาถ่ายรูป เสร็จแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ…
คุณออม เจ้าของร้าน Hor Hidden Cafe

เพราะปัญหา Gentrification ไม่ใช่แค่เมืองเจริญขึ้น ของใหม่มาของเก่าไป แต่มันคือการทำให้พื้นที่หนึ่งแพงเกินไป จนคนอีกกลุ่มหนึ่งสู้ราคาไม่ไหวต้องย้ายออก ถ้าผู้ว่าฯ หรือหน่วยงานรัฐใด ๆ ที่มีประสิทธิภาพมีอยู่จริง เราก็ขอความหวังจะได้เห็นการแทรกแซง โครงการช่วยเหลือทำอย่างไรให้คนเท่าเทียมกัน แบบที่เห็นในประเทศอื่นเขาบ้างเถอะ

Comments are closed.