ปากทางอารีย์ซอย 2 ถือว่าเป็นเวิ้งอาคารพาณิชย์ที่ธุรกิจรายย่อยเติบโตสวยงามอย่าบอกใคร เป็นที่ตั้งของคาเฟ่บอร์ดเกมส์ขนาด 5 ชั้นอย่าง Dice ร้านครัวซองต์เลื่องชื่อ Kenn’s Coffee and Croissant มีร้านอาหารเกาหลีและญี่ปุ่นห่างกันเพียงไม่กี่ก้าว ยังไม่รวมอดีตที่พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ตั้งของ Tokyo Bike ร้านจักรยานสุดเท่ เป็นตัวบ่งบอกว่าอารีย์คือย่านแห่งฮิปแซงซอยไหน ๆ
สำหรับใครที่เดินผ่านซอย 2 แอบมองเห็นร้านเสื้อผ้าหน้าตาน่ารัก กับป้ายนีออนสีขาวนี้ และยังไม่กล้าแวะเข้าไปดูชม ขอบอกเลยว่า เจ้าของร้านน่ารักมาก! วันนี้เราชวนเดินออกนอกเส้นทางไปแวะคุยกับ “ฟูมิโกะซัง” เจ้าของร้าน Fumikii Tokyo ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นน้อยแห่งซอยอารีย์ สาวญี่ปุ่นท่าทางใจดีคนนี้กัน
คนนิชิวะ! (こんにちは) สวัสดี
ธุรกิจขนาดเล็กต่าง ๆ ในอารีย์มักขึ้นชื่อว่าบริการอย่างสนิทชิดเชื้อน่าประทับใจ แต่ก็ยังไม่เห็นร้านเสื้อผ้าที่ไหนที่ดูสุขใจที่ได้ต้อนรับลูกค้าเท่า Fumikii Tokyo โดยฟูมิโกะซังถือคติที่ว่า
“ไม่อยากกดดันให้ลูกค้าต้องซื้อเมื่อเปิดประตูเข้ามา แค่มาเดินเล่น แวะมาทักทายกันก็ได้ บางทีลูกค้าบางรายก็ซื้อเสร็จแล้วก็นั่งคุยเล่นกันเป็นชั่วโมงก็มี”
เธอตัดสินใจรื้อถอนโครงสร้างเก่าที่ผู้เช่ารายที่แล้วทำไว้อย่างสวยงามออก เหลือเพียงหน้าร้านที่เรียบง่ายและเข้าถึงได้มากที่สุด “ความบ้านๆ” นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่จุดชำระเงินของฟูมิโกะซังนั้นเป็นโต๊ะกาแฟเล็ก ๆ ให้ลูกค้าได้นั่งเล่น ขณะที่เธอกำลังนำสินค้าใส่ถุง ให้ลูกค้าได้ใช้เวลานานขึ้น เป็นการสร้างบรรยากาศเหมือนแวะไปยืมเสื้อบ้านเพื่อนไปในตัว ในขณะที่มองไปรอบตัวก็รายล้อมไปด้วยเสื้อผ้าเครื่องประดับทั้งมือหนึ่ง มือสอง นำเข้ามาจากญี่ปุ่นจากแบรนด์เล็กใหญ่ แต่ละตัวคัดเลือกจากฟูมิโกะเอง และเธอเป็นคนติดต่อกับเจ้าของแต่ละแบรนด์เองทั้งหมด
หลังจากแวะมาบ่อย ๆ จนคุ้นหน้าคุ้นตากันพอสมควร ฟูมิโกะก็ขอเรียกเราว่า “ฮามิชุจัง”
ด้วยความยินดี วันนี้ฮามิชุจังจะขอนั่งสนทนากับฟูมิโกะซังยาว ๆ เกี่ยวกับตัวตนและความเป็นมาของร้านและผู้หญิงคนนี้กันดูสักหน่อย
เด็กหญิงฟูมิโกะ
“ฉันมาจากโตเกียว เกิดในย่านอาดาจิ (足立区) ไม่ได้เป็นย่านที่ไม่ค่อยโดดเด่นอะไร แต่ก็นับว่าเป็นชาวโตเกียวโดยกำเนิด โตเกียวแตกต่างจากไทยค่อนข้างมาก มันเป็นระเบียบไปหมด บอกไม่ถูก ทุกคนจะจริงจังกว่ากรุงเทพฯ มาก”
เมื่อถามว่าวัยเด็กของเธอเป็นอย่างไร ฟูมิโกะตอบแบบเขินเล็ก ๆ ว่า
“ตอนประถมฉันต้องเรียนโรงเรียนเอกชน ถักเปีย แล้วฉันจะมีปัญหากับแม่เรื่องเสื้อผ้าบ่อยมาก เพราะแม่จะเป็นคนเลือกว่าเราใส่อะไรออกจากบ้าน ซึ่งแม่ก็จะเลือกเสื้อผ้าสไตล์เด็กผู้หญิงหวาน ๆ มาให้ ฉันก็จะแบบ เพลียมาก…”
“แล้วทำไมถึงไม่ชอบใส่เสื้อผ้าหวาน ๆ แบบที่แม่ให้ล่ะ”
“คือตอนนั้นฉันชอบเล่นโรลเลอร์สเก็ต แล้วฉันกับกลุ่มเพื่อน ๆ จะเล่น… ไอ้ที่มันมีล้อเดียว แต่ปั่นได้เหมือนจักรยาน… ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่าอะไรน้า”
ทางนี้เองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่มากูเกิลทีหลังพบว่า มันคือ Unicycle หรือจักรยานล้อเดียวนี่แหละ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันเป็นกิจกรรมยอดฮิตของคนญี่ปุ่นช่วงต้นยุค 90 ได้ยังไง
“ใช่ ๆ ฉันก็เลยอยากแต่งกายสมบุกสมบันเป็นพิเศษ เช่นกางเกงขาสั้น พอเริ่มเป็นวัยรุ่น ฉันก็เป็นเด็กที่ไม่ค่อยเอาเรียนเท่าไหร่ จะเน้นไปทางแต่งตัวมากกว่า สมัยนั้นนิตยสาร Nylon มาแรงมาก แล้วเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นก็แฟชั่นจัดกันน่าดู พอเลิกเรียน เราก็จะแวะเข้าห้องน้ำพับกระโปรงให้มันสั้น ๆ เปลี่ยนถุงเท้าใหม่ แล้วก็ไปเดินชิบูย่า ไปเดินห้างต่าง ๆ กัน คิดว่าเริ่มสนใจแฟชั่นตั้งแต่ตอนนั้น”
แฟชั่นสไตล์โตเกียว โดย Fumiikii Tokyo
กระโดดข้ามเวลามาสู่ปัจจุบัน ฟูมิโกะย้ายมาอยู่ไทยได้หลายปีแล้ว เธอเปิดร้านเสื้อผ้าเล็ก ๆ อยู่ที่อารีย์ซอย 2 ตามความต้องการของเธอ โดยตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบันนั้นเพิ่งย้ายเข้ามาได้ไม่ถึงปี ก่อนหน้านี้ห้องแถวล็อกนี้เคยเป็นร้าน Gloc ร้านเสื้อผ้า Selective Shop แบบเดียวกับของฟูมิโกะที่เก๋ไก๋ไม่แพ้กัน
เพื่อนบ้านในอารีย์คนหนึ่งเรียกฉันว่า ฟูมิโกะ โตเกียว ก็เลยเอาชื่อ username สมัยเด็กเรา Fumikii มาผสมกับโตเกียว ให้ออก Geek นิด ๆ เหมาะกับฉันดี
หากพบเห็นฟูมิโกะซังนอกสถานที่ก็อาจจะเดาจากการแต่งตัวได้ไม่ยากว่าเธอน่าจะทำงานเกี่ยวกับแฟชั่น การแต่งตัวของเธอเป็นแบบไหน เสื้อผ้าในร้านก็ไม่ต่างกันนัก เราจะเห็นเสื้อผ้าคุมโทนน้ำตาลอ่อน สีขาวปอน ๆ สีเขียว ที่ดูรวม ๆ แล้วท่าทางจะสบายตัวคนใส่และสบายตาคนมองเห็น แฝงไปด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ทำให้ดูเซ็กซี่ ไม่ธรรมดาจนเกินไป
“ตอนแรกคิดอยากตั้งชื่อร้านว่า Hedi ตามชื่อช่างภาพที่ชอบ Hedi Slimane แต่ไป ๆ มา ๆ รู้สึกว่ามันทำให้เราดูเหนือกว่าคนอื่นเกินไป เพื่อนบ้านในอารีย์คนหนึ่งเรียกฉันว่าฟูมิโกะ โตเกียว ก็เลยเอาชื่อ username สมัยเด็กเรา Fumikii มาผสมกับโตเกียว ให้ออก Geek นิด ๆ เหมาะกับฉันดี”
พูดถึงความ Geek แล้ว ฟูมิโกะซังก็มีความสนใจหลงไหลในแฟชั่นแต่ละแบรนด์ที่เลือกมาขายไม่น้อย เราสามารถนั่งคุยกับเธอได้เรื่อย ๆ เกี่ยวกับเนื้อผ้า สี สไตล์ ความเป็นมาของแต่ละแบรนด์ ไปจนถึงปีที่ผลิต โดยเสื้อผ้าที่นำมาขายนั้นก็มีทั้งมือสองและมือหนึ่ง มีทั้งสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย ทั้งแบรนด์ที่มีขายเฉพาะในญี่ปุ่น เช่น 6Roku, Shinezone, todayful แบรนด์ต่างชาติที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น อย่างเช่น Steven Alan, Isabel Marant, Engineered Garments เสื้อผ้าจากยุโรปและอเมริกา (ที่นิยมในหมู่คนญี่ปุ่น) เช่น xxx, xxx รวมไปถึงเสื้อผ้าแบรนด์เล็ก ๆ ของไทย เช่น Glare Glare, beautiful people, fufu ที่ทั้งหมดเธอเป็นคนเลือกเองกับมือ
จากแอร์โฮสเตส มาสู่ แม่ค้าเสื้อผ้า
ฟูมิโกะเล่าให้เราฟังว่า ตั้งแต่เธอเรียนจบมาทางสายภาษา ก็เข้าทำงานออฟฟิศปกติ แต่บังเอิญว่างานนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เธอใฝ่ฝัน ซึ่งอาชีพที่อยากทำจริง ๆ นั่นคือการเป็นแอร์โฮสเตส เมื่ออายุก้าวเข้าสู่ปีที่ 34 เธอติดอยู่กับความคิดที่ว่า อายุเท่านี้แล้ว คงจะสายเกินไปแล้วสำหรับอาชีพนี้
ในญี่ปุ่นการที่ผู้หญิงเปลี่ยนสายงานหลังอายุก้าวเข้าเลข 30 แล้วเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครสนับสนุนมากนัก ทั้งครอบครัวและเพื่อนต่างมองว่าเสี่ยงและยากเกินไป รวมไปถึงตัวเธอเองด้วย
จนกระทั่งวันหนึ่งที่สนามบิผู่ตงที่เซี้ยงไฮ้ ขณะที่กระเป๋าเดินทางของเธอติดอยู่ในเครื่องแสกนและต้องยืนรอการแก้ไข พนักงานสนามบินคนหนึ่งเป็นผู้หญิงญี่ปุ่นท่าทางอัธยาศัยดี ทั้งสองคุยกันจนไปถึงจุดที่เธอถามว่าคนญี่ปุ่นอายุ 30 กว่าแบบฉันจะเป็นแอร์ได้ไหม พนักงานสนามบินคนนั้นตอบว่า “ได้แน่นอน หัวหน้างานฉันก็เป็นผู้หญิงญี่ปุ่น ก็เริ่มเข้ามาเป็นแอร์ตอนอายุ 34 นะ”
“เอาหน่อย ดีกว่าไม่เคยลองเลย”
จึงเลยไปสมัครดู และ เธอก็ได้งานจริง ๆ กับสายการบินแถบตะวันออกกลาง ด้วยอาชีพนี้เองทำให้เธอมีโอกาสได้มาไทยบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ และรู้จักเพื่อน ๆ ที่อยู่ที่เมืองไทยมากขึ้น จนอีกการตัดสินใจหนึ่งมาถึง เธอจะย้ายมาอยู่ไทยและสมัครงานกับสายการบินที่นี่แทน
“ฉันอยากย้ายมาอยู่ประเทศไทยมานานแล้ว วันนั้น Air Asia เปิดรับสมัคร วันนั้นเรามีโอกาสบินมาไทยพอดี เลยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในไทยวิ่งไปสัมภาษณ์งาน เสร็จแล้วก็ต้องบินกลับเลยภายในวันเดียว”
ปรากฏว่าเธอก็ได้งาน และได้มาประจำที่ไทย ถ้าไม่มีก้าวแรกก็คงไม่เห็นว่าเธอมาได้ไกลขนาดนี้
“อาม่าซัง” เรื่องประทับใจกับชาวอารีย์
วันหลังจากคุยกันเสร็จแล้วฟูมิโกะซังขอร้องให้เราฟังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอจึงผูกพันกับย่านอารีย์เป็นพิเศษ ฉันจึงตัดสินใจกลับไปหาอีกครั้ง
“ตอนฉันมาเปิดร้านที่อารีย์เมื่อไม่นานมานี้เอง อาคารพาณิชย์ตรงข้าง ๆ นี้เปิดให้เช่า เพราะผู้เช่าเก่าย้ายออก และเรารู้มาว่าเจ้าของที่นี่เขามีตัวเลือกไม่น้อย และเขาก็สกรีนผู้เช่าไม่เบา”
“เพื่อนคนไทยฉันช่วยนัดวันให้ พอถึงวันจริงเพื่อนเกิดติดธุระอะไรก็ไม่รู้ ฉันเลยต้องมาคนเดียว ตอนนั้นประหม่ามาก เพราะเราพูดภาษาไทยแทบไม่ได้เลย”
“คนที่ฉันคุยด้วยคืออาม่า เป็นเจ้าของที่ตรงนี้ อาม่าถือไม้เท้า ดูท่าทางขึงขังทำให้ฉันประหม่าเข้าไปใหญ่ และแน่นอนว่าอาม่าพูดภาษาอังกฤษ หรือญี่ปุ่นไม่ได้เลย การสื่อสารในวันนั้นเรียกว่าล้มเหลวมาก (หัวเราะ) ”
ฟูมิโกะซังเล่าให้ฟังว่าตอนนั้นแอบถอดใจแล้ว แต่ในที่สุดเธอก็ได้รับการติดต่อจากลูกหลานของเจ้าของที่อีกครั้ง เธอจะได้เป็นผู้เช่ารายต่อไป พร้อมกับบอกอีกด้วยว่า ทางโน้นมีตัวเลือกผู้เช่าหลายเจ้า แต่อาม่าเป็นคนเลือกฟูมิโกะ เพราะรู้สึกถูกชะตา
หลังจากนั้นมา Fumiikii Tokyo ก็เปิดทำการที่นี่ ครอบครัวลูกหลานของอาม่าก็มาเลือกจับจองอุดหนุนเสื้อผ้าเป็นลูกค้ากลุ่มแรก ๆ พร้อมกับบอกว่า “ขายดี” ทำให้ฟูมิโกะเรียนรู้คำไทยคำนี้มาด้วย โดยมี “อาม่าซัง” อาศัยอยู่ข้างบน ฟูมิโกะมีโอกาสได้พบอาม่าน้อยครั้ง เพราะคนอายุมากจะไม่ลงบันไดมาข้างล่างถ้าไม่จำเป็น จนกระทั่งวันหนึ่งมีรถพยาบาลมาจอดอย่างฉุกเฉิน ฟูมิโกะรุดขึ้นไปด้านบน เธอบอกว่า เธอรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พบอาม่าอีกครั้ง และเป็นคนหนึ่งที่ได้อยู่ตรงนั้นก่อนอาม่าจะจากโลกนี้ไป
ฮาจิเมะ มาชิเตะ (はじめまして) ยินดีที่ได้รู้จัก
ตั้งแต่วันที่ฉันได้เข้าไปสัมภาษณ์ ฟูมิโกะ ทุกครั้งที่เดินผ่านหน้าร้านก็จะมีความรู้สึกดี ๆ อยากแวะไปนั่งคุยนั่งเล่น อยากแวะไปให้กำลังใจในช่วงโควิดนี้ด้วย ลูกค้าทุกคนของฟูมิโกะจะได้ถ่ายรูปร่วมกัน เธอปฏิบัติกับลูกค้าทุกคนเหมือนเป็นแขกที่มาเยี่ยมบ้าน และไม่ว่าจะกี่ครั้งที่ฉันแวะเข้าไป ก็ไม่เคยรู้สึกเปลี่ยนไปเลย
แวะมาหาฟูมิโกะซังกันได้นะ
Comments are closed.