มีคนเคยบอกว่าการ ” ย้ายบ้าน ” เป็นสิ่งที่น่าปวดหัวที่สุดอย่างหนึ่ง

ฉัน ย้ายบ้าน ใหม่มาได้ 1 สัปดาห์ ขอคอนเฟิร์มด้วยประสบการณ์สด ๆ ร้อน ๆ เลยว่า เป็นสิ่งที่ชวนให้ทึ้งหัวตัวเองเป็นที่สุด การต้องกวาดเอาของออกจากทุกตู้ทุกลิ้นชัก แยกของใช้ของทิ้ง แยกประเภทแยกห้องใส่กล่อง แบกของขึ้นรถทีละวัน ๆ ดูจะเป็นสิ่งที่เหนือบ่ากว่าแรงมาก จนกระทั่งทำมันจนเสร็จจนได้

เราใช้เวลา 5 วัน ในการขนถ่ายของจากที่เก่าไปที่ใหม่ (จากอารีย์ ไปพิบูลย์วัฒนา แทบจะเดินถือของไปบ้านใหม่ได้เลย) การขนถ่ายในที่นี้หมายถึงการเอาทุกอย่างไปแบกขึ้นบันไดไปกองสุมไว้หน้าประตูห้องอย่างเมื่อยล้า ยังไม่ต้องพูดถึงการแกะกล่อง ติดตั้งสารพันสิ่ง ตกแต่งให้สวยเหมือนเก่า คงต้องใช้เวลาอีกเป็นสัปดาห์กว่าจะรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน และคงเป็นเดือนกว่าจะรู้สึกว่านี่คือบ้านของเราแล้วจริง ๆ

พอพูดไปแล้วก็ทำให้คิดขึ้นได้ว่า ฉันไม่ใช่มนุษย์คอนโด 50 ตารางเมตรแล้วสินะ เราย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์ที่ใหญ่กว่าเดิมมาก ที่เราหากันเป็นปี กะว่าจะมีเพื่อนมากินข้าวเย็นที่บ้านได้ แขกไปใครมาก็นอนค้างได้ และเปิดปิดประตูก็ไม่ทำให้คนที่นอนอยู่ตื่น เรามีเพื่อนบ้านที่สุดแสนใจดีที่รู้จักหน้าค่าตากันมาก่อน

แต่สิ่งที่ประหลาดคือ ฉันต้องสอนตัวเองให้เชื่อว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ เพราะยังรู้สึกเหมือนกับว่าบ้านจริง ๆ คือคอนโดเก่า ที่ตอนนี้เป็นแค่ห้องโล่ง ๆ ไปแล้ว

บางทีก็เผลอหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเลื่อนดูภาพเก่า ๆ ก็ยังไม่อยากเชื่อว่า 4-5 ปีนั้นทุกอย่างกลายเป็นอดีตไปหมดแล้ว คิดถึงลิฟต์ คิดถึงวิวเก่า คิดถึงมุมโปรดของตัวเอง และเสียดายโอกาสที่จะทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านมนุษย์คอนโดคนอื่น ๆ ยังคิดอยู่เสมอว่าวันหนึ่งฉันจะต้องรู้ให้ได้ว่าคนข้างห้องหน้าตาเป็นอย่างไร เราอาจจะชวนเขาทำโปรเจ็กต์กับเพื่อนบ้านอารีย์ด้วยกัน แต่วันเหล่านั้นมันผ่านไปแล้ว

ฉันลองเสิร์ชกูเกิลดูเล่น ๆ ว่ามีอีกสักกี่คนที่รู้สึกคิดถึงบ้าน ทั้งที่ตัวเองอยู่ในบ้านแบบนี้ คำตอบคือ เพียบ บางคนใช้เวลาเป็นปี แล้วก็มีคอมเมนต์หนึ่งบอกว่า ถ้ายิ่งหันหลังไปมองนานเท่าไหร่ เราก็จะใช้เวลาในการ move on นานขึ้นเรื่อย ๆ ก็คงอย่างนั้นมั้ง

ฉันเชื่อว่าผู้อ่านบล็อกเพื่อนบ้านอารีย์มีประสบการณ์ในการ ย้ายบ้าน ย้ายถิ่นฐานมากกว่าฉันแน่นอน บางคนอาจกำลังเจอกับสิ่งเดียวกันนี้อยู่ บางคนอาจพเนจรย้ายบ้านไปเรื่อย ๆ ใครอ่านมาถึงตรงนี้ช่วยแบ่งปันความรู้สึกกันหน่อยนะ

Comments are closed.