Category

บทสัมภาษณ์

Category

บทสัมภาษณ์ ที่เป็นเหมือนการเดินเล่นกับเพื่อนบ้าน ฟังเรื่องราวชีวิต ศิลปะ แนวคิดในการทำธุรกิจ แรงบันดาลใจ และความเป็นไปของอารีย์และผู้คน

ความทรงจำที่ดีที่ผ่านมาไม่นานมานี้ คือการได้นั่งกินมื้อเที่ยงกับเพื่อนบ้านที่รู้จักใหม่อย่าง เชฟเบลล์ แห่งรายการ Masterchef Thailand เป็นการพูดคุยที่ทั้งสนุกและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ เพราะยิ่งคุยก็ยิ่งเจอเรื่องน่าทึ่งเกี่ยวกับผู้หญิงคนนี้เต็มไปหมด

บ่ายหนึ่งที่อากาศร้อนจัดอีกตามเคย ฉันอยู่ที่ร้าน Kenny’s ร้านใหม่ที่เพิ่งเปิดที่พหลฯ ซอย 5 แบบหมาด ๆ ตรงข้ามกับ Feast Rajchakru นี่เอง การตกแต่งสีส้มสว่างสไว กำแพงอิฐ และเพลงอินดี้ป็อป พอจะทำให้เดาได้ไม่ยากว่านี่คือร้านอาหารสไตล์ คอมฟอร์ทฟู้ด แบบทานง่าย มากับเพื่อน ๆ มีคราฟท์เบียร์ดี ๆ มีฉายบอลให้ดู เผลอแปปเดียวอาจอยู่จนร้านปิด (ตีสาม) เอาได้ง่าย ๆ นี่แหละคือคอนเซปต์ของร้านใหม่ร้านนี้ เป็นจุดนัดพบที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนตลอดตั้งแต่เปิดมาได้ไม่ถึงสองเดือนที่ผ่านมา  

ฉันมีสัมภาษณ์ เชฟเบลล์ พิมพ์ทิพย์ เป้าศิลา หนึ่งในเชฟรับเชิญประจำเดือนนี้ของร้าน Kenny’s มีโปรเจ็คที่เรียกว่า Kenny’s & Friends ซึ่งเป็นการวางแผนจะร่วมมือกับเชฟ ศิลปิน เดือนละคนเพื่อรังสรรค์อะไรสนุก ๆ ออกมาให้ไม่ซ้ำกันในแต่ละเดือน และเชฟเบลล์คือคนแรกสำหรับโปรเจ็คนี้ เธอออกแบบเมนู 5 จาน ทั้งพิซซ่า เซวิเช่ ไปจนถึงไส้อั่วทอด ทั้งหมดได้รับแรงบันดาลใจมาจากกลิ่น รส และวัฒนธรรมของภาคเหนือที่เธอไปอยู่มาเป็นเดือนเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ 

เบลล์ เป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันในรายการทีวีสุดโหด อย่าง Masterchef Thailand รายการที่สร้างชื่อเสียงและฐานแฟนคลับให้เธอไปไม่ได้น้อย แต่สิ่งฉันกลับรู้สึกตื่นเต้นมากกว่าที่รู้ว่า บ้านเธออยู่ในซอยราชครูนี่เอง

ครูสอนทำอาหารคนแรก: คุณยาย และทีวีแชมเปี้ยน

“ตอนเด็กเบลล์โตมากับยายค่ะ ยายเป็นคนเลี้ยง เพราะพ่อกับแม่ไปทำงาน คุณยายเป็นแม่หม้ายที่เลี้ยงลูก 5 คน แกจะเก่งเรื่องการทำอาหารมาก เบลล์ก็ช่วยยายเด็ดกระเฉด สอนให้จุดเตา จำได้ว่าเมนูเด็ดเลยคือ ปลาทอดขมิ้น กับต้มส้ม สูตรยะลาของคนยาย พอคุณยายป่วยติดเตียงและเสียไป เบลล์ก็เลยรับหน้าที่ทำอาหารให้ที่บ้านแทน พ่อแม่กลับมาเราก็ทำอาหารให้ อยู่กับพี่ชายปิดเทอม เราก็ทำข้าวเที่ยงให้พี่ชายกิน ตอนนั้นคือประถมนะ”

พิซซ่าหน้าข้่าวซอยสูตรเชฟเบลล์ เมนูพิเศษของร้านที่อร่อยอย่างบอกใคร

เบลล์ออกตัวว่าเป็นเด็กติดทีวีคนหนึ่ง และรายการที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำอาหารคือรายการแข่งขันสุดคลาสสิกของยุค 90 อย่าง ทีวีแชมเปี้ยน ทำให้เธอได้รู้จักเมนูญี่ปุ่นอย่าง ทงคัตสึ เทมปุระ คงไม่ต่างอะไรกับเด็กยุค 90 ทั่วไป แต่ที่ต่างคือ เธอเห็นแล้วลองทำตามดูบ้างจริง ๆ วัยประถมของเบลล์ คือการทำอาหาร ทดลองหยิบโน้นผสมนี่อยู่คนเดียวในครัว และทำขนมไปขายเด็กข้างบ้าน เพื่อนที่โรงเรียน 

เอาจริงนะ ถ้าคุณผู้อ่านอยู่ในเหตุการณ์ ได้เห็นสายตาคุณเบลล์ตอนเล่าเรื่องพวกนี้ จะรู้เลยว่าเธอสนุกกับการทำอาหารจริง ๆ 

ทางที่ไม่ได้เลือก

พอเบลล์กลายเป็นวัยรุ่น ฝีมือและความชอบในการทำอาหาร ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป แต่เบลล์มองว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบทำอาหารทานเองในบ้าน ให้เพื่อนและครอบครัวมากกว่า เส้นทางการเป็นเชฟจึงไม่ใช่ช้อยส์มาตั้งแต่แรก

“จบการเงิน แล้วก็ไปต่อมาร์เก็ตติ้งค่ะ ไม่ได้เรียนทางด้านอาหารโดยตรงเพราะที่บ้านเขาค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ บ้านเบลล์เขาเป็นข้าราชการกันทั้งคู่เลย เขาก็กังวลว่าถ้าเป็นเชฟจะมั่นคงไหม รายได้เป็นยังไง ส่วนตัวเราเองก็รู้แค่ว่า เป็นเชฟคือการเปิดร้านอาหารหรือเปล่า ซึ่งทำให้เราไม่กล้าเต็มร้อยที่ไปทางสายเชฟ เพราะก็ไม่ได้มีเงินทุนมาก แต่ก็ยังทำอาหารให้พ่อแม่กินตลอดนะ ทุกเสาร์อาทิตย์ก็ทำพาย ทำเค้ก ลองหาดูเอาจากนิตยสารแม่บ้านอะไรแนวนั้น”

เบลล์เรียนจบและได้งานแรกเป็น data analyst งานแรกที่ทำให้กลับบ้านมาร้องไห้ทุกวัน เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เธอชอบเลย 

“จนกระทั่งดูทีวีแล้วมาเจอช่อง Asian Food Network เขากำลังหาพิธีกร นี่ก็เป็นเด็กติดทีวีอยู่แล้วเคยดูตลอด แอบคิดในใจว่าทำไมเขาไม่มีคนที่ทำอาหารไทยได้ในช่องนี้เลย สุดท้ายเลยตัดสินใจออกจากงานแล้วสมัครเลย สรุปว่าติดท็อป 5 จาก 800 กว่าคนที่สมัครมาจากทั่วเอเชียเลย

สุดท้ายก็ได้มีรายการเป็นของตัวเองอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ว่าไม่ได้ชนะจนผ่านเข้ารอบสุดท้าย ตอนนั้นเรารู้สึกกดดันตัวเอง ไม่เป็นตัวของตัวเอง เรากังวลไปหมด คนโน้นเขาภาษาแบบเนทีฟเลย คนนี้เขาเป็นเชฟมาก่อนมีประสบการณ์ คนนั้นเขาอายุมากกว่า มัวแต่คิดฟุ้งซ่านไปเองว่าเราจะสู้เขาไม่ได้

หลังจากที่แข่งใน Asian Food Channel เสร็จ เบลล์บอกกับตัวเองเลยว่า ถ้ามีโอกาสมาอีกเราจะเป็นตัวของตัวเองอย่างร้อยเปอร์เซ็น เราจะมั่นใจในความสามารถตัวเอง ข้างในเป็นยังไงก็ไม่รู้แหละ แต่เราจะมั่นใจไว้ก่อน”

ชอบอันนี้มาก เซวิชเช่กุ้งกับน้ำเสารส เสิร์ฟกับมันฝรั่งทอด

และแล้วโอกาสก็มาถึง: Masterchef Thailand

หลายปีถัดมา รายการ Masterchef Thailand ซีซั่น 5 เปิดรับสมัครในธีม homecook จะรับเฉพาะคนที่ไม่มีประสบการณ์ในอาชีพทางอาหาร ไม่เคยเรียน ไม่เป็นเชฟ ไม่เคยเปิดร้านมาก่อนเท่านั้น เรียกว่าโจทย์นี้ออกแบบมาเพื่อเธอเลย โอกาสมาก็ต้องรีบตะครุบไว้ทันที

“รายการเขาอยากให้เราเป็นตัวของตัวเองสุด ๆ อย่ากั๊ก ที่นี่เป็นเซฟโซนที่อนุญาติให้คุณได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ บางอย่างสถานการณ์ปกติเราก็จะไม่คิดอะไร ไม่พูดอะไร หรือบางเรื่องเราก็จะปล่อยผ่าน แต่ในรายการคือมีไรเราก็พูดเลย อยากแสดงสีหน้าอะไรออกมาก็ทำเลย ตัดความเกรงใจออกไป ซึ่งเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันสนุกจังวะ”

“มันปรับ mindset เบลล์เลยนะ ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่าเราไม่มีทางเอาดีด้านอาหารได้หรอก ถึงแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราชอบ ความรู้ทางสายอาชีพก็ไม่มี มีแต่แพสชั่นล้วนๆ แต่พอออกมาจากมาสเตอร์เชฟ เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้น ก็มีแต่คนทักเข้ามาว่าเมื่อไหร่จะทำของขาย อยากชิมฝีมือการทำอาหารที่เราทำ ทำให้เราเชื่อว่าถ้าเราจะทำอะไรในด้านอาหาร เราทำได้นะ”

ถึงแม้ว่าเบลล์จะไม่ได้ชนะซีซั่นนั้นแต่ก็ไปได้ไกลทีเดียว นอกจากนี้ยังได้แฟนคลับเป็นกระบุงในโซเชียลมีเดีย ที่ชื่นชอบในบุคลิก ยิ้มรอยกว้างๆ และเสน่ห์ปลายจวักของคนคนนี้

“หลังจากจบมาสเตอร์เชฟมานี่ก็ร้อนวิชาไง ยังไปเปิดบูธที่ Ari Weekend Market สอนทำขนมไทยอยู่เลย ประมาณสองปีที่แล้วเบลล์ทำพื้นที่ส่วนหนึ่งในบ้านแฟนที่ซอยราชครูให้เป็น cooking studio ของเราเอง ก็ได้เจอกับเพื่อนบ้านที่น่ารักอย่างพี่จอม พี่เป้า เจ้าของร้าน แม่ยุ้ย ซึ่งอยู่ใกล้บ้านมาก ๆ เราว่าอารีย์มันเป็นย่านที่มีความเป็นคอมมิวนิตี้ไม่เหมือนที่ไหนดี”

A Friend of Kenny’s

Kenny’s เป็นร้านใหม่ที่เพิ่งเปิดเมื่อเดือนพฤษภา 2023 นี้เอง เป็นร้านที่บอกต่อไปเร็วมาก โดยเฉพาะบอกต่อว่าร้านนี้เปิดถึงตีสาม คุณยู เจ้าของร้าน ผู้มีประสบการณ์อยู่ในวงการอาหารและเครื่องดื่มมาร่วม 20 ก็นั่งอยู่ในวงสนทนากับเราด้วย คุณยูเคยสร้างชื่อเสียงให้กับร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังอย่าง 25 Degrees นี่เอง

คุณยู เจ้าของร้าน Kenny’s ก็มานั่งคุยกับเราด้วย

“ผมชอบอาหารที่มันสบายใจอ่ะ กินกับเพื่อน ๆ วางบนโต๊ะแล้วทุกคนมาแย่งกัน ผมชอบบรรยากาศแบบนี้ สำหรับที่ Kenny’s ผมอยากให้เป็นร้านอาหารประจำของละแวกนี้ เราตั้งราคาที่อยู่กึ่ง ๆ ระหว่าง comfort food กับ fine dining คือเราไม่ได้บอกว่าราคาอาหารเราถูกนะ แต่คนกิน กินแล้วต้องรู้สึกว่าคุณภาพมันแพงกว่าที่เขาเสียเงินซื้อไป”

คุณยูเสริมเกี่ยวกับร้านอาหารใหม่ของย่านแห่งนี้ ขณะที่เบลล์ก็เริ่มลงมือทานพิซซ่าหน้าข้าวซอยที่เธอคิดเองที่อยู่เบื้องหน้า

“ส่วนที่ร้าน Kenny’s เนี่ย เบลล์ไม่ได้รู้จักมาก่อนนะ มันเป็นทางเข้าบ้าน ก็เลยผ่านบ่อย ก็มอง ๆ คิดว่าร้านใหม่นี่มาเปิดจะขายอะไรนะ หน้าตาเหมือนขายไก่ทอด รูธเบียร์ เชียร์กีฬาอะไรประมาณนั้น ก็ลองมากินกับแฟน มาชิมแล้วเราก็โอเค ร้านนี้เป็นร้านที่กลับมากินซ้ำได้ มีคืนนึงที่ร้านฉายบอลลิเวอร์พูลพอดี เราก็เลยนั่งอยู่จนดึกหน่อย (ร้านปิดตีสาม) ก็บังเอิญได้คุยกับพี่ลูกค้าคนนึงเขาแนะนำให้รู้จักคุณยูเจ้าของร้าน พ

อได้คุยแล้วรู้สึกว่าแนวคิดในการทำอาหารของเราตรงกัน คือเราชอบเรียลฟู้ด อาหารที่ไม่ยาก ไม่ต้องประดิษฐ์ประดอย ไม่ต้องยึดติดกับอะไรเดิมๆ หรือต้องบรรยายอะไรมากขนาดนั้น เราชอบอาหารที่กินง่าย เข้าถึงคนทาน และชอบใช้ของดีในการทำอาหารเหมือนกัน”

เบลล์พูดไปก็ขำคิกคักไป แอบยอมรับถึงความเมาของตัวเองตอนนั้นที่ตอบตกลงโปรเจ็คนี้ไป

ให้ทายว่าทำอะไร …เช็ดกระจกจ้า

“พอได้คุยแล้วรู้สึกว่าแนวคิดในการทำอาหารของเราตรงกัน คือเราชอบเรียลฟู้ด อาหารที่ไม่ยาก ไม่ต้องประดิษฐ์ประดอย ไม่ต้องยึดติดกับอะไรเดิมๆ หรือต้องบรรยายอะไรมากขนาดนั้น เราชอบอาหารที่กินง่าย เข้าถึงคนทาน และชอบใช้วัตถุดิบที่ดีในการทำอาหารเหมือนกัน

คุยไปซักพักคุณยูเขาก็บอกว่าเขาอยากจะมีเชฟรับเชิญเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ละเดือน เราเห็นแล้วแบบรู้สึกอยากเล่นด้วย ก็เลยตอบตกลงไปค่ะ เบลล์ก็ลองคิดเมนูที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการไปอยู่จังหวัดทางภาคเหนือมาเมื่อไม่นานมานี้ เราได้ใช้วัตถุดิบจากชุมชน อย่างเช่นไส้อั่ว พริกกะเหรี่ยงย่าง เม็ดมะตูมแขก เอาผักชีลาวมาใส่พิซซ่า เอามาประยุกต์ใช้กับเมนูต่าง ๆ ของร้าน และเราได้เล่าเรื่องผ่านอาหาร และเลือกวัตถุดิบที่ดีมาให้ลูกค้าค่ะ”

“เชฟเบลล์”

จะหางั้นงี้ก็ได้นะ ความคิดเราในตอนแรกก่อนจะมาสัมภาษณ์ การเป็นเชฟนี่มันคือจุดสูงสุดของสายอาชีพอาหารเลยนะ คงต้องประสบการณ์ที่สะสมมานาน การเข้าร่วมรายการทำอาหารจะทำให้เราได้สถานะเชฟเลยหรือ? 

กลายเป็นว่าเบลล์เองก็ใคร่ครวญกับคำถามนี้มาพอสมควรเช่นกัน

“เราทำอาหารกินเองที่บ้านมาตั้งแต่เด็กอ่ะ แต่เอาจริง ๆ เราไม่เคยกล้าเรียกตัวเองว่าเชฟเลยนะ จนกระทั่งมาทำที่ Kenny’s เนี่ยแหละ เรามองว่าตอนนี้เราทำอาหารอย่างดีด้วยความชอบ เราออกแบบแต่ละเมนูจากความคิดและประสบการณ์ของเรา เบลล์ชอบอาหารวัตถุดิบบ้าน ๆ ที่หาได้ง่าย ๆ มาใส่ไอเดียใส่ความสนุกลงไป เราออกแบบเมนูที่ทำให้คนนึกถึงธรรมชาติที่ภาคเหนือ นึกถึงภูเขาอยากให้คนกลับมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของภาคเหนือบ้าง เพราะต้นปีเราเจอปัญหาฝุ่นควันกันหนักมาก เบลล์ซื้อปลาตรงจากแพปลาเอง คัดวัตถุดิบเอง ลูกค้าทานอาหารเราแล้วเขาแฮปปี้ มีความสุข กลับมาทานซ้ำ อันนี้คือคำว่าเชฟสำหรับเรา ซึ่งถามว่าภูมิใจไหม บอกเลยว่า มากกก!”

เชฟเบลล์ที่หอบเอาชุดเชฟมาถ่ายแบบเต็มยศด้วย (แค่ท่อนบนนะ!)

ข่าวการปิดตัวของร้านอาหารที่อยู่คู่อารีย์สัมพันธ์อย่าง Pla Dib มาถึงหูพวกเราอย่างสายฟ้าแลบ และ ถูกส่งต่อ ๆ กันปากต่อปากอย่างรวดเร็ว “หา! ปิดแล้วเหรอ” “ใช่ เขาจะสร้างคอนโดน่ะ” “แล้วพี่เขาจะไปทำอะไรต่อ” บทสทนาแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในระยะเวลาไม่นาน จนทำให้เพื่อนบ้านอารีย์ต้องติดต่อ “คุณพริว” เจ้าของร้านปลาดิบ เพื่อหาถ้อยแถลงเกี่ยวกับปิดตัวลงของร้านอาหารแห่งนี้หลังจากยืนหยัดอยู่เกิน 20 ปีมาให้ได้

เมื่อคิดดูแล้ว เราไม่เคยมีโอกาสได้ขอสัมภาษณ์ใครจากร้านนี้มาก่อนเลย ทั้งที่เป็นร้านดังร้านหนึ่งของย่าน เสียใจที่ต้องบอกกับตัวเองว่า หากไม่ได้ติดต่อไปครั้งนี้ ก็คงจะได้พูดถึงกันในฐานะอดีตเสียแล้ว วันนี้เราจึงอยากจะถ่ายทอดเรื่องราว แรงบันดาลใจ และก้าวต่อไปของคุณพริวเจ้าของร้าน มาเล่าสู่กันฟัง

ร้านปลาดิบ (Pla Dib) เป็นร้านอาหารแนวเอเชี่ยนฟิวชั่นฟู้ด ตั้งอยู่ ณ บ้านเก่าหลังหนึ่งที่อยู่ตรงปากทางเข้ากรมประชาสัมพันธ์ เป็นแหล่งแฮงค์เอ้าท์ในตอนกลางคืน กับอาหารแต่ละเมนูที่ถูกคิดค้นขึ้นมาอย่างดี และคัดสรรวัตถุดิบมาอย่างตั้งใจ และไม่ต้องแปลกใจ ถ้ามานั่งทานอาหารที่นี่แล้วได้กระทบไหล่ดาราดัง นักการเมือง และบุคคลจากวงการสร้างสรรค์มากมาย

“เปิดมา 20 กว่าปีแล้วนะ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากอ่ะ เป็นคนชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้วด้วย บ้านอยู่แถวนี้ ก็อยากให้มีร้านแถว ๆ บ้านบ้าง จะได้ไม่ต้องไปถึงทองหล่อตลอด สมัยก่อน (ปี 2000) แถวนี้ไม่มีอะไรเลย กรมประชาสัมพันธ์ก็ไม่มีนะ ตรงข้ามร้านนี่ก็มีกั้นสังกะสีไว้ เดินเข้าไปก็เป็นเสาส่งสัญญาณ ผมเข้าไปปั่นจักรยานเล่นกับเพื่อนประจำ จะมีอยู่ร้านนึงที่เก่าและอยู่มานานจริง คือร้านสวนกุหลาบ ที่ย้ายมาจากสโมสรทหารบก”

อารีย์ในยุคนั้น ไม่มีร้านอาหารให้เลือกมากมาย ไม่มีคอนโด สิ่งเดียวที่อู่ฟู่ที่สุดคือบ้านหลังใหญ่ของนายทหารและนักการเมืองที่เรียงรายกัน เด็กแต่ละบ้านจะรู้จักกัน และออกมาเล่นกันเป็นประจำ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณพริวเอง ก็มาจากตระกูลข้าราชการที่มีเอี่ยวในการเมืองอยู่ไม่น้อย แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติของคนแถวนี้

“คุณพ่อเป็นคนชอบทำอาหาร และชอบชิมอาหารครับ ผมก็เลยมีโอกาสได้ไปร้านอาหารที่หากินยาก ๆ ต่าง ๆ สมัยก่อนอาหารฝรั่งเศส อิตาเลี่ยน นี่มีอยู่ไม่กี่ที่ครับ ต้องไปกินถึงในโรงแรมเลย ส่วนคุณย่าผมแกเคยเป็นคนสนิทและดูแลเรื่องอาหารในวังของเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ที่สุขุมวิท ครอบครัวเราเลยได้รับการถ่ายทอดสูตรอาหารจากคุณย่า รวมถึงความชื่นชอบด้วย”

(ใครที่อยากทานอาหารตำรับคุณย่าคุณพริว ให้ไปที่ร้าน “อย่างเก่าก่อน” ที่พหลโยธิน 14 ซึ่งเป็นร้านของลูกพี่ลูกน้องคุณพริวนั่นเอง)

“ได้มาทำอาหารจริง ๆ ช่วงไปเรียนต่างประเทศ พวกเพื่อน ๆ รูมเมทมันกินอาหารอะไรที่แบบ แย่อ่ะ ฮ่าๆ เราก็เลยเป็นคนทำอาหารให้เพื่อน ๆ ตอนที่เรียนด้วย แล้วคือในยุคนั้นมันไม่ค่อยมีร้านอะไรดี ๆ นะ โดยเฉพาะร้านอาหารเอเชีย ถ้าไม่อยู่ในเมืองใหญ่จริง ๆ หากินยาก”

คุณพริวเรียนต่อด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ที่อเมริกา ในช่วงปลายยุค 90s ในปี 1997 ข่าวร้ายจากทางบ้านก็มาถึง ว่าคุณพ่อประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ผนวกกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ทำให้คุณพริวต้องรีบกลับมาช่วยคุณแม่ที่่บ้านและทิ้งการเรียนที่อเมริกาไป

พื้นที่บ้านตรงนี้ สมัยแรก ๆ มันเป็นร้านเหล้าชื่อ Johnny Walker แล้วก็เปลี่ยนเป็นชื่อ Forget Me Not แบบว่าเป็นร้านโบราณ ๆ มีโต๊ะพูลอะไรแบบนั้น ไม่เคยเห็นตอนมันเป็นบ้านคนเลยนะ แล้ววันนึงก็เห็นว่า เฮ้ยมันว่างว่ะ อยู่ใกล้บ้านด้วย รู้จักกันเจ้าของที่ด้วย ช่วงหลังจากกลับมาเราก็เป็นดีเจ ทำงานออกแบบ อะไรไป พอมาเจอตรงนี้ก็เลยตัดสินใจเปิดร้านเลย”

“ที่ชื่อปลาดิบ มันเป็นชื่อกลุ่มเพื่อนที่เป็นนักออกแบบเหมือนกันในช่วงนั้น แบบ Raw Fish อ่ะ มันเป็นอะไรที่มันเรียบง่าย เหมือนจะทำง่าย แต่จริง ๆ มันยากและต้องวัดฝีมือและวัตถุดิบมาก ๆ ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อร้านภาษาไทยว่า ปลาดิบ เราไม่ได้โปรโมทอะไรเลย ป้ายหน้าร้านยังไม่มีเลย บางทีเราก็เอาชอล์คไปเขียนชื่อร้านตรงป้ายบ้านเลขที่บ้าง แค่นั้น”

ร้านปลาดิบ ไม่ได้เปิดตัวตูมตาม คนแห่มาถ่ายรูปแชร์ลงโซเชียลมีเดียแบบสมัยนี้ คุณพริวเล่าให้ฟังว่า ร้านในช่วงปีแรก ๆ ก็ “พอไปได้” ในแง่ที่ว่า มันเป็นที่แฮงค์เอ้าท์ของชาวอารีย์ ถ้าอยากจะกินอะไรที่พิเศษหน่อย จะได้ไม่ต้องไปไกลถึงสุขุมวิท ทองหล่อ มันเลยกลายเป็นจุดชุมนุมของคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว และมารู้จักกันที่ร้าน และบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ พอเก็บเงินได้ส่วนหนึ่ง ก็เริ่มตกแต่ง ขยายส่วนนั้น ซ่อมส่วนนี้ ไปเรื่อย ๆ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นงามทั้งหมดในร้านนี้ คือฝีมือการออกแบบและผลิตโดยคุณพริวเอง

“เราเป็นร้านของคอมมิวนิตี้ ก็อยากทำอะไรให้คอมมิวนิตี้นะ อย่างเห็นดงกล้วยข้างหลังไหม แต่ก่อนนี้ มันเคยเป็นป่ารก ๆ แล้วก็มีคนเอาขยะไปเททิ้งกัน มันไม่มีการดูแล โจรขึ้นบ้านกันทั้งแถบเลย บ้างทีโจรก็มากบดานอยุ่ในป่านี้บ้าง เราก็เลยลงทุนเช่าพื้นที่ตรงหลังร้านมาดูแลเอง ทำเป็นกรีนเฮาส์ อะไรต่าง ๆ อยู่ช่วงนึง คนแถวนี้เขาก็ชอบนะ มาช่วยดูแลรดน้ำให้ด้วย แต่มันก็ต้องเช่านะ หลัง ๆ มาบอกว่าจะขึ้นราคา ผมบอกคุณจะบ้าเหรอ”

อย่างไรก็ดี 20 ปีผ่านไป ร้านนี้ผ่านช่วงวัยของการเป็นร้านกลางคืนสุดฮิป แหล่งพักพิงของผู้ตระเวณราตรี มาสู่ยุคปัจจุบัน ยุคที่อารีย์ขึ้นชื่อเรื่องความไฮโซ เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย การรักษาคุณภาพของอาหาร อาจไม่เพียงพอ เมื่อสถานภาพร้านแห่งเดียวในอารีย์ถูกช่วงชิงไปโดยร้านอาหารของผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีการออกแบบทางพานิชย์มาอย่างดีแล้ว

“หลังๆ ก็มีรู้สึกผิดหวังกับอารีย์บ้างเหมือนกันนะ พอเราเริ่มต้นว่าย่านเราแตกต่าง ซอยอารีย์มันเป็นของมันแบบนี้ มันไม่ใช่สุขุมวิท ไม่ใช่ทองหล่อ คนเขามาที่นี่ก็เพราะว่ามันมีความบ้าน ๆ ไม่เหมือนใคร และคนส่วนใหญ่รู้จักกัน แต่ตอนนี้เข้าซอยนี้มามันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับทองหล่อแล้วอ่ะ เราก็พยายามมาหลายครั้งเหมือนกันนะ เรื่องคอมมิวนิตี้ กิจกรรมอะไร แต่มันก็ยังไม่สำเร็จซักที และที่ดินมันแพง คนซื้อที่บ้านเก่ามาทำอย่างอื่นไม่ได้อ่ะ ก็ต้องหวังผลกำไรอย่างเดียว”

เสียงจากคุณพริว หนึ่งในเจ้าของกิจการและผู้อยู่อาศัยซอยในอารีย์สัมพันธ์ ที่มักมีส่วนร่วมในการร่วมออกเสียงทุกครั้งเมื่อมีการนัดประชุมเกี่ยวกับผลกระทบทางชุมชนเมื่อมีสิ่งก่อสร้างใหม่ขึ้นในอารีย์ จนในบางครั้งชาวบ้านหลายคนฝากฝังให้เขาเป็นตัวแทนเสียงให้ด้วย ในอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อนบ้านอารีย์ก็สามารถยืนยันได้เลยประสบการณ์การพูดคุยกับ ฝั่งนักอสังหาริมทรัพย์ ว่าชาวอารีย์นั้นหวงแหนและเอาใจใส่ด้านความเป็นอยุ่ของพวกเขาเป็นอย่างดี ไม่ต้องพูดถึงโครงการทีอยู่อาศัยหลายโครงการในที่แห่งนี้ ที่อยู่ในสถานะ “ยังไงก็ไม่ผ่าน” มาหลายปี

อารีย์กำลังสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มบ้านหลังใหญ่อันเงียบสงบ หรือ ลูกค้าร้านปลาดิบกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง อาจยังไม่คุ้นเคยเติบโตมากับอาหารของทางร้าน อาจจะเป็นบทเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ร้านนึ้ต้องปิดตัวลง ปลายเดือนธันวาคม 2022 นี่เอง ที่คุณพริวได้รับข่าวจากเจ้าของว่า ได้ขายบ้านหลังนี้ให้กับนักลงทุนไปแล้ว และเขามีเวลาไม่กี่เดือนที่จะปิดกิจการ บ้านหลังนี้เป็นที่ดินของตระกูล เจ้าของที่อายุเยอะ ๆ กันหมดแล้ว และถูกเปลี่ยนมือให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน บ้านหลังนี้จึงถูกขายเพื่อทำคอนโดต่อไป

“ตอนนี้ผมอายุเยอะแล้ว ไม่ได้มีกำลังมากเหมือนก่อน หลังจากนี้ก็คงไม่ทำอะไรใหญ่โต แต่ก็คงเป็นเรื่องอาหารที่ชอบเหมือนเดิมครับ”

กิจการใหม่ภายใต้เจ้าของปลาดิบ นั้นเราพอจะบอกได้ว่าจะเป็นร้านข้าวมันไก่ชื่อว่า เล้า เร็ว ๆ นี้ เราจะได้เห็นร้านเล็ก ๆ ในระยะไม่ไกลจากอดีตร้านปลาดิบแห่งนี้มากนัก และเชื่อเลยว่า ความอร่อย และบรรยากาศสนุก จะยังคงมีให้กับชาวอารีย์และผู้ผ่านไปมาเหมือนเดิมอย่างแน่นอน

ผมได้รับคำชวนจากเพื่อนบ้านอารีย์ให้มาทำความรู้จักและนั่งคุยกับเจ้าของร้านขายเทปคาสเซ็ทที่มีชื่อง่าย ๆ ว่า “ ร้านเทป ” หรือ “Cassette Shop” ย่าน ประดิพัทธ์ คนชวนถึงกับออกปากว่า “มาแล้วจะต้องชอบ” มีหรือจะปฏิเสธ

จากประดิพัทธ์ซอย 19 เดินเข้ามาสัก 200 เมตร ผ่านบ้านที่เป็นร้านขายแผ่นเสียงร้านดังของย่านประดิพัทธ์ ที่ตั้งชื่อง่าย ๆ พอกันว่า “ร้านแผ่นเสียง” ทางซ้ายมืออีกเช่นกัน เราจะเห็นอาคารชุดสไตล์วินเทจดูน่าหลงไหล ซ่อนตัวอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ เดินเข้าไปที่ห้องชุดที่สอง มองขึ้นไปที่ระเบียง ไม่มีป้ายร้านจากด้านนอก ถ้าเห็นศิลปะและของสะสมนานับสิ่งของเจ้าของร้านติดอยู่บนผนังแสดงว่าคุณมาถึงแล้ว

ตะวันคล้ายจะเลยคล้อยขอบฟ้าไปแล้ว ฉันบึ่งจากการสัมภาษณ์ร้านซ่อมรองเท้าที่แฟลตพิบูลวัฒนา มาที่อารีย์ซอย 2 วันนี้ฉันนัดกับเจ้าของรถเข็นขายปลาหมึกย่าง ที่มีหน้าตาโดดเด่นไปจากรถเข็นทั่วไป มองผ่าน ๆ คล้ายรถเข็นไม้ ขายบะหมี่แบบญี่ปุ่นโบราณ ตั้งแต่มันมาตั้งอยู่ตรงเวิ้งลานจอดรถนี้ ใครต่อใครก็ต่างพากันถ่ายรูปเมื่อเดินผ่าน มันคือเจ้าของเดียวกันกับ Summer Street ร้านปิ้งย่างดังของอารีย์

หากผู้อ่านท่านไหนที่ยังไม่รู้ สัตว์ประจำถิ่นของ อารีย์ คือสุนัขพันธ์ุไทย ชื่อว่าเจ้า เบี้ยว เป็น หมา ที่ใครก็รู้จักแบบเดียวกับที่ มช. มีเจ้าเตี้ยเลยแหละ สำหรับเจ้าเบี้ยวแล้ว นอกจากจะเป็นอุปนิสัยทะเล้นน่าเอ็นดูแล้ว จุดเด่นของมันคือขากรรไกรด้านล่างที่หัก ทำให้เบี้ยวอ้าปากแลบลิ้นตลอดเวลาเดินไปไหนมาไหน จนคนส่วนใหญ่มักจะจำได้ทันที มีชื่อเสียงถึงขนาดที่ว่าเจ้าของร้าน Pladib เปิดอินสตาแกรมให้ด้วย และมีจิตรกรรมฝาผนังข้างร้าน Silo Ari เป็นรูปตัวเอง แถมมีสารคดีสั้นของตัวเองอีกต่างหาก

นิสัยใจคอของเบี้ยว

เบี้ยว เป็น หมา เพศผู้ ตากลมโต นิสัยน่ารักตามประสาหมาธรรมดาตัวหนึ่ง กิจกรรมสุดโปรดของมันคือการนั่งหน้าประตูเซเว่น บางครั้งก็จะหันมองซ้ายขวาดูคนผ่านไปมาบนถนน เบี้ยวไม่ใช่หมาตะกละตะกลาม น้องจะกินอาหารที่ชาวบ้านตั้งให้เป็นจุด ๆ อย่าคิดว่าซื้ออะไรเหลือ ๆ แล้วจะโยนให้เบี้ยวกินเป็นอันขาด ป้าตุ๊ก ช่างตัดเสื้อร้านชิพ & ชิพ บูติค (Cheap & Cheap Boutique) เล่าว่าตอนนี้เบี้ยวมันแก่แล้ว สมัยตอนยังเป็นหนุ่มมักมีพฤติกรรมเอาหน้าเข้าไปใต้กระโปรงผู้หญิง สร้างความแตกตื่นโกลาหลและโห่แซวของวินมอเตอร์ไซค์ผู้พบเห็น

เบี้ยวเป็นใครมาจากไหน

จากคำให้การของคุณป้าตุ๊ก ร้านตัดเสื้อชิพชิพ ซอยศาสนา ผู้ที่ได้ชื่อว่าใกล้ชิดกับเบี้ยวที่สุด เพราะมันคือสุนัขของสามีผู้ล่วงลับของป้านั่นเอง ป้าเล่าให้ฟังว่าสามีแกเป็นคนรักสัตว์ ชอบให้อาหารสัตว์ ทำให้หมาหลายตัวก็มักจะตามเขามาด้วย 10 กว่าปีที่แล้ว สามีของป้าไปพบเบี้ยวเป็นหมาหลง ออกไปไกลถึงแถวสถานีรถไฟสามเสน ให้ข้าวให้ปลามันกินตามประสา แล้วมันก็เดินตามเขามาถึงซอยอารีย์สัมพันธ์ หลังจากนั้นจะมีคนบริเวณอารีย์สัมพันธ์พบเห็นเบี้ยวเดินไปมาอยู่บ่อย ๆ เหมือนกับว่าตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่แถวนี้

เบี้ยว หมา อารีย์
เจ้าเบี้ยว สิ่งมีชีวิตที่มีชื่อเสียงที่สุดในอารีย์ ภาพจากอินตาแกรม @misterbiew

บ่ายวันฝนตกวันหนึ่ง ป้าตุ๊กเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนที่ยังไม่ได้สนิทชิดเชื้อกัน เบี้ยวมันมาหลบฝนที่ชายคาร้านชิพชิพ (ปัจจุบันเป็นร้าน Kimchi Hour) ฝนตกหนักป้าก็เปิดประตูบ้าน เรียกว่า “เบี้ยวเข้ามาไหม ๆ” มันก็ทำท่าเหมือนจะไม่ได้ยิน แต่หันมาอีกทีก็ขยับเข้ามาใกล้ประตูบ้านเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเข้ามานอนในบ้าน ป้าเล่าว่าอยู่กับมัน บางทีอาบน้ำคนก็อาบน้ำหมาไปพร้อมกันด้วยเลย

ทำไม เบี้ยว ถึงปากเบี้ยว

วันหนึ่งหลังจากที่เบี้ยวเริ่มมาอยู่กับคุณป้าและสามีมากขึ้น มีรถมอเตอร์ไซค์มาจอดบอกป้าว่า “เนี่ยหมาผมเอง” ป้าจึงเริ่มซักไซ้ว่ามันกลายไปเป็นหมาหลงไปไกลถึงสามเสนได้ยังไง จนได้ความว่า เบี้ยวเป็นหมาบ้านทหารในซอยพิบูลย์วัฒนา เลี้ยงคู่กันกับหมาที่หน้าตาเหมือนกัน อายุเท่ากัน ชื่อว่า “โด” วันหนึ่งเหมือนมันไปกัดไก่ชนราคาตัวเป็นแสนที่เขาเลี้ยงไว้ เจ้าของเห็นเข้าก็เลยตีมันจนขากรรไกรหัก หลังจากนั้นเบี้ยวก็หนีออกจากบ้าน กลายเป็น หมาจรจัดไปเป็นเดือน

พี่เจ้าของเดิมมาเจอมันเข้าก็พามันไปรักษาที่โรงพยาบาล หมดสตางค์ไปมากมายมันถึงจะหายเจ็บ แต่ก็ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ เอาตัวกลับบ้านก็หนีออกไปอีก กลายเป็นหมาเร่ร่อนจนสามีของป้าตุ๊กมาเจอ มันเลยตามกลับมาอารีย์สัมพันธ์อีกครั้ง

เบี้ยว หมา อารีย์

เจอ เบี้ยว ได้ที่ไหนบ้าง

เส้นทางการเดินของน้อง จะอยู่ระหว่าง อารีย์ ซอยหนึ่ง ตรงไปสุดซอย เลี้ยวไปซอยอารีย์สัมพันธ์ 7-12 เจ้าของบ้านอารีย์สัมพันธ์บางหลังจะตั้งอาหารไว้ให้มันกินบ้าง จะได้เห็นหน้าบ่อย ๆ ตามประตูเซเว่นที่อยู่บนเส้นทางนี้ อีกที่หนึ่งคือร้าน Pladib ที่เบี้ยวสนิทชิดเชื้อกับเจ้าของร้าน นอกจากนี้เรายังเข้าดูภาพของเบี้ยวได้ที่อินสตาแกรม MisterBiew ด้วยนะ

ห้าโมงเย็นวันนี้ ที่อารีย์ฝนไม่ตก ฉันอยู่ที่อารีย์ซอย 1 ที่บ้านหลังเก่าติดกับโรงเรียนสวนบัว บ้านหลังนี้เป็นที่ชาวอารีย์จะรู้จักในฐานะร้าน Landhaus ร้านเบเกอรีสไตล์เยอรมันแท้ ๆ ที่มาเช่าพื้นที่ทำร้านจนมีชื่อเสียงได้หลายปี สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือชั้นสองของบ้านหลังนี้ เป็นพื้นที่ขนาดเท่าห้องนอนห้องหนึ่ง ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโชว์รูม เสื้อผ้า และของใช้เล็ก ๆ ของ BDS Collective แบรนด์สินค้า ยั่งยืน มีราวแขวนผ้าไม่กี่ราว และถ้วยชาม ช้อนส้อม ที่ทำจากไม้วางเรียงราย โต๊ะทำงานหนึ่งโต๊ะที่ดูแสนธรรมดาตั้งอยู่

คิด ๆ ดูแล้วย่านอารีย์ก็มีอาหารให้เลือกเกือบจะครบหมดทุกสัญชาติ ไม่ว่าจะร้านซูชิระดับตำนานอย่าง Sousaku ร้านอาหารเกาหลีก็มีทั้ง Joha และ Anneyeong มีเบเกอรีสไตล์เยอรมันแท้ ๆ อย่าง Landhaus หรือจะนั่งกินอาหารอิตาเลียนก็หนีไม่พ้น Cantina ไปจนถึงร้านข้าวห่อสาหร่ายจากไต้หวันอย่าง Fantuan ก็มาเปิด แล้ว อาหารอังกฤษ จากประเทศที่ไม่ค่อยเด่นด้านอาหารล่ะ ? เราก็มีที่ Cakes & Craft นะ

ปากทางอารีย์ซอย 2 ถือว่าเป็นเวิ้งอาคารพาณิชย์ที่ธุรกิจรายย่อยเติบโตสวยงามอย่าบอกใคร เป็นที่ตั้งของคาเฟ่บอร์ดเกมส์ขนาด 5 ชั้นอย่าง Dice ร้านครัวซองต์เลื่องชื่อ Kenn’s Coffee and Croissant มีร้านอาหารเกาหลีและญี่ปุ่นห่างกันเพียงไม่กี่ก้าว ยังไม่รวมอดีตที่พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ตั้งของ Tokyo Bike ร้านจักรยานสุดเท่ เป็นตัวบ่งบอกว่าอารีย์คือย่านแห่งฮิปแซงซอยไหน ๆ

7 โมงเช้า ความสำเร็จแรกของวันคือการขุดร่างออกจากเตียงมายืนรอคุณบาสที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติได้สำเร็จ ยังไม่แน่ใจว่า การเดินสำรวจ ธรรมชาติ ในย่านอารีย์นั้นจะเกิดขึ้นและจบลงอย่างไร คุณบาสคือใคร จะเป็นคนอย่างไร คนประเภทไหนกันที่จะออกปากชวนคนแปลกหน้าไปเดินสำรวจความหลากหลายทางธรรมชาติตอน 7 โมงเช้า