ผมได้รับคำชวนจากเพื่อนบ้านอารีย์ให้มาทำความรู้จักและนั่งคุยกับเจ้าของร้านขายเทปคาสเซ็ทที่มีชื่อง่าย ๆ ว่า “ ร้านเทป ” หรือ “Cassette Shop” ย่าน ประดิพัทธ์ คนชวนถึงกับออกปากว่า “มาแล้วจะต้องชอบ” มีหรือจะปฏิเสธ

จากประดิพัทธ์ซอย 19 เดินเข้ามาสัก 200 เมตร ผ่านบ้านที่เป็นร้านขายแผ่นเสียงร้านดังของย่านประดิพัทธ์ ที่ตั้งชื่อง่าย ๆ พอกันว่า “ร้านแผ่นเสียง” ทางซ้ายมืออีกเช่นกัน เราจะเห็นอาคารชุดสไตล์วินเทจดูน่าหลงไหล ซ่อนตัวอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ เดินเข้าไปที่ห้องชุดที่สอง มองขึ้นไปที่ระเบียง ไม่มีป้ายร้านจากด้านนอก ถ้าเห็นศิลปะและของสะสมนานับสิ่งของเจ้าของร้านติดอยู่บนผนังแสดงว่าคุณมาถึงแล้ว

ร้าน(ขาย)เทป ที่ยังมีอยู่

ขณะเดินขึ้นบันไดขึ้นไปที่ร้าน ผมสารภาพตามตรงว่าถ้าไม่มีคนชวนมาก็คงไม่คิดว่ายุคนี้จะยังมีร้านขายเทปอยู่ สิ่งแรกที่เห็นคือสารพัดสารพันของตลับเทปหรือเทปคาสเซ็ทละลานตาในร้าน มีทั้งของไทยของเทศ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ราคาซื้อขายมีตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักพันปลาย ๆ ผมเคยคิดว่าเทปคาสเซ็ทสู่ขิตไปนานแล้ว ในวันที่เทคโนโลยีหมุนพาสิ่งใหม่ ๆ มาสู่โลก การมีอยู่ของร้านนี้ทำให้รู้ว่า โลกก็หมุนวนพาความรื่นรมย์ของอดีตกลับมาเช่นกัน

เราทักทายพี่เจย์ ณัฐพล สว่างตระกูล เจ้าของร้านที่รอเราอยู่ชั้นบนท่ามกลางเทปและเครื่องเล่นเทปจากหลายยุคหลายสมัยที่รายล้อมเขาไว้ บทสนทนาของเราเริ่มต้นขึ้นแทบจะทันทีขณะผมตื่นตาตื่นใจกับบรรดาของขายและของสะสมที่นี่ คุณเจย์เล่าถึงการเริ่มมาขายเทปว่า แต่ก่อนทำงานออกแบบ สมัยก่อนว่าง ๆ ชอบไปเดินคลองถม พันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน เห็นเทปคาสเซ็ทวางขายเต็มไปหมดม้วนละ 50 บาท ก็ซื้อเก็บเป็นวงที่ชอบ ซื้อเก็บมาเรื่อย ๆ นานเข้าชักเยอะ ทีนี้เข้าไปดูในเว็บไซต์ขายของมือ 2 มีคนตามหาเทปคาสเซ็ทพวกนี้อยู่เลยคิดว่า น่าจะขายได้ ก็เลยเอามาขาย ปรากฏขายได้ เลยขายมาเรื่อย ๆ

“เมียรู้ไหมครับเนี่ยซื้อเยอะขนาดนี้”
“ตอนนั้นบอกไม่ได้นะ ถ้ารู้โดนบ่น ตอนนี้เลิกบ่นละ”

อารมณ์ขันแบบไม่ฝืนชวนให้ขำคิกคัก ค่อย ๆ ละลายพฤติกรรมระหว่างเรากับนักสะสมเจ้าของร้าน แหงนมองมีแผงเทป บนผนังมีเทปคาสเซ็ทของศิลปินไทยในอดีตหลายคนที่มีผลงาน ‘คลาสสิก’ ระดับ ‘หายาก’ พร้อมลายเซ็นที่คุณเจย์ทำแผงแยกไว้สำหรับเทปที่เขาสะสมเท่านั้น อย่างเช่นแถวด้านบนจะเห็นเทปของ ปานศักดิ์ รังสิพรามณกุล อัลบั้ม “ไปทะเล” ที่วางแผงเมื่อปี 2527 ที่สร้างสีสันให้กับวงการเพลงไทยในขณะนั้น คุณเจย์อธิบายว่าทำไมถึงเห็นเทปอัลบั้มเดียวกันวางเรียงเป็นแถบ

แผงเทป ภายใน ร้านเทป Cassette Shop ประดิพัทธ์

ทำออกมาขายกี่ครั้ง ก็ซื้อซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีผลงานที่เจ้าของร้าน ‘ไม่ขาย’ อย่างอัลบั้ม เจ้าหญิงแห่งดอกไม้ และเจ้าชายแห่งทะเล ของ พราย ปฐมพร (2536) อัลบั้ม ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา ของเพชร โอสถานุเคราะห์  (2530) อัลบั้มรวมฮิต ชีวิตเพื่อชีวิต ของศิลปินเพื่อชีวิต พงศ์เทพ กระโดนชำนาญ และอีกมากมาย รวมไปถึง Modern Dog ที่มีลายเซ็นศิลปินครบทุกคนอยู่ในทุกอัลบั้ม คุณเจย์เล่าว่าเขาคือคนที่จัดการผลิตเทปของโมเดิร์นด็อกหลังจากได้รับการทาบทามจากวง หลังจากนั้นก็ทำเทปให้กับวงมาตลอด จนมีลายเซ็นเก็บไว้สะสมอย่างที่เห็น

“ศิลปินปัจจุบันก็ยังออกเทปกันอยู่เหมือนเดิม อย่างเช่นนี่ชุดใหม่ล่าสุดของพี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก เป็นงานแยกจากวงมาทำเองในชื่อ Balloon Boy เห็นตรงปกไหม มีชื่อร้านด้วยนะ”

“อย่างอิ้งค์เนี่ย ค่ายเขาทำออกมาแบบหมดเลยหมดเลย คนก็เลยอยากสะสม”

ตอกย้ำว่าเทปกลับมาได้รับความนิยมแล้วจริง ๆ เมื่อเห็นศิลปินรุ่นใหม่ ๆ อย่างอิ้งค์ วรันธร ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะได้รับความนิยมขนาดที่เทปคลาสเซ็ตอัลบั้ม Bliss ของเธอขายกันในวงนักสะสมม้วนละ 4,500 บาท!

เทป อิ้งค์ วรันธร ภายใน ร้านเทป Cassette Shop ประดิพัทธ์
อัลบั้ม Bliss ของอิ้งค์ วรัญธร ที่ขายกันในวงนักสะสมสูงถึงม้วนละ 4,500 บาท

“ราคาในร้าน ผมจะดูราคาที่เขาขาย ๆ กัน สมมติ บางปกขาย 500 ร้านพี่ขายต่ำกว่านิดหน่อย คือเราไม่ตัดราคากันมาก คนขายก็รู้จักกันหมดนี่แหละ แต่ทุกราคาที่ผมตั้ง เราฟังแล้วรู้ว่า เขาตั้งใจทำออกมา”

“ผมตั้งราคาตามความเป็นที่ต้องการ และความหาง่ายหายากของแต่ละปก ทำให้เราต้องคอยติดตามตลอดว่าตอนนี้อันไหนกำลังเป็นที่สนใจ อันไหนค่ายเพิ่งผลิตใหม่ เราต้องรู้จักหมดทุกอย่างเพื่อที่จะได้แนะนำและตั้งราคาได้ ส่วนอันไหนที่ผมไม่รู้จักเลย แล้วมีคนถาม ผมก็จะบอกว่าไม่รู้ แล้วก็ขายให้เลยแบบไม่แพง ซึ่งจริง ๆ คนอาจจะตามหากันอยู่ก็ได้ แต่ผมไม่รู้จักไง ก็ให้เขาไป”

ขณะที่บทสนทนาดำเนินไป คุณเจย์หยิบเทปคาสเซ็ทออกจากตลับ ใส่เข้าไปในเครื่องเล่นเทปแบบบูมบ็อกซ์ (Boombox-เครื่องเล่นวิทยุกระเป๋าหิ้ว) หนึ่งในหลายเครื่องที่วางเรียงรายในห้อง เสียงทุ้มลึกของเพลง  ‘ไหนว่าจะไม่หลอกกัน’  ของ Silly Fools ดังออกมาจากเครื่องเล่น

เจย์ ณัฐพล สว่างตระกูล เจ้าของ ร้านเทป ประดิพัทธ์

เทป VS แผ่นเสียง อรรถรสที่แตกต่าง

คุณเจย์อธิบายว่า เสียงจากเทปจะให้อารมณ์ฟังเพลิน ๆ ต่างจากแผ่นเสียง มีคนบอกว่าถ้าได้ชุดลำโพงดี ๆ  เสียงจากแผ่นเสียงที่บันทึกดี ๆ นี่เหมือนศิลปินคนนั้นมาแสดงสดให้ดูตรงหน้าเลยทีเดียว

เสียงจากเทปจะมีความทุ้ม เหมาะเปิดสร้างบรรยากาศ ฟังได้นาน ทำงานไปฟังเพลงไปได้ ส่วนเสียงจากแผ่นเสียง ให้ความรู้สึกเนี๊ยบ ต้องตั้งใจฟังจริง ๆ ซึ่งเสียงจากซีดีหรือสตรีมมิ่งมันจะค่อนข้างแหลม ฟังนานไม่ค่อยได้

ด้วยเหตุนี้เอง ที่ร้านเทปอย่าง Cassette Shop ต้องขายทั้งเทปและเครื่องเล่นเทปไปด้วย พราะบางคนไม่เคยเคยฟังเพลงจากเทปมาก่อน มาถึงร้านก็อยากลองฟัง พอฟังแล้วก็อยากเอากลับไปฟังที่บ้านต่อ ทางร้านจึงขายเครื่องเล่นด้วยเลย มีการรับประกันทุกชิ้น

เครื่องเล่นเทปบลูทูธ นวัตกรรมสุดภูมิใจ

คุณเจย์ชี้ให้ดูนวัตกรรมชิ้นที่เป็นความภูมิใจของแก ภายนอกเป็นเครื่องเล่นคาสเซ็ทพร้อมวิทยุแบบทั่วไปแต่มันมีเทคโนโลยีของยุคปัจจุบันซ่อนอยู่ คือใส่บลูทูธเข้าไปด้วย ไปคุยกับช่างที่เป็นหุ้นส่วนตอนแรก ช่างบอกไม่น่าทำได้ ช่วยกันคิดกับช่าง สุดท้ายก็สำเร็จคือ เล่นได้ทั้งเทปและบลูทูธ คนไหนอยากฟังเทปจากเครื่องเล่น ร้านนี้มีเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทขายตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักพัน ไม่ต้องกังวลเงินในกระเป๋า

“ค่อย ๆ เริ่ม ไม่ต้องรีบ เริ่มฟังจากเครื่องเล่นพื้น ๆ ก่อน ค่อยเขยิบ ๆ ซื้อรุ่นที่ดีกว่านี้”

พูดถึงลูกค้ากลุ่มที่เพิ่งขยับมาฟังเทปแล้ว ผมถามต่อว่ามีลูกค้าที่โหด ๆ แบบที่ประทับใจไหม คุณเจย์ก็เล่าถึงครอบครัวต่างชาติที่มาแวะร้านหลังเริ่มผ่อนปรนโควิด  มีคนเป็นพ่อเดิน ๆ หยิบ ๆ เทปหลายสิบม้วนมีแต่เพลงฝรั่ง จ่ายบิลเดียว 20,000 กว่าบาท  จนรู้ว่าเป็นนักสะสมเทปที่เดินทางทั่วเอเชียเพื่อซื้อเทปโดยเฉพาะ และเจอร้านจากอินเตอร์เน็ต ก่อนจะกลับยังหันมาบอกคณจย์ว่า รู้ไหม เขามีเงินซื้อเทปได้ทั้งร้านเลยนะ แต่เขาอยากให้คนอื่นได้สะสมด้วย นี่แสดงว่า การฟังเพลงของเรา ก็ไม่ธรรมดา

ภายใน ร้านเทป Cassette Shop ประดิพัทธ์ 2

Cassette Shop ร้านเทป ชื่อดังแห่งย่าน ประดิพัทธ์

ร้าน Cassette Shop เปิดกิจการมาแล้วกว่า 5 ปี แม้จะเปิดเผยตัวเลขไม่ได้แต่ขอบอกว่ารายได้นั้นงดงามพอสมควร แต่ไม่ใช่ว่าใครจะซื้อเทปมาขายแล้วจะขายได้มากขนาดนี้ ถึงแม้ว่าร้านจะอยู่ลึกลับในซอยและไม่ได้มีป้ายใหญ่โต แต่ชื่อคุณเจย์นั้นเป็นที่รู้จักเป็นเบอร์ต้น ๆ ของวงการนักสะสมเทป การจะรักษาความสม่ำเสมอแบบนี้ ไม่ได้อาศัยแค่ความรักในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ต้องสะสมความรู้แบบไม่เลือกหน้า ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเพลงเขาต้องรู้ก่อน

คนที่จะมาทำอาชีพนี้ ต้องเป็นคนเปิดใจกว้าง ฟังเพลงได้หลากหลาย บอกชอบเพลงร็อก ยี้เพลงแจ๊ส เบือนหน้าเพลงลูกทุ่ง ไม่น่าเหมาะกับอาชีพแบบนี้

“ขายของคุณต้องมีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจให้กับคนมาซื้อบ้าง บางคนเขาไม่รู้อะไรเลย แต่เขาพร้อมที่จะจ่ายเงินซื้อของของคุณ ที่สำคัญต้องเป็นคนไม่โลภ ถ้าเราตั้งราคาแบบไม่สนใจ คิดแค่ขายเพื่อให้ได้เงิน ลูกค้าเขาดูออกว่าเราไม่มีความรู้ แล้วเขาจะหนีไปซื้อกับร้านอื่นที่ราคาดีกว่า”

Comments are closed.