หลายคนรู้จัก Gump’s แหล่งท่องเที่ยวเชิงอินสตาแกรมสุดฮิต ที่เสาร์อาทิตย์จะเนืองแน่นไปด้วยหนุ่มหล่อสาวสวยที่มาถ่ายรูปเช็กอินกันตลอดวัน หลายคนอาจเคยไป Josh Hotel ที่รวบรวมคาเฟ่น่านั่งที่ห่างออกไปไม่กี่นาที แต่อาจไม่สังเกตประตูไม้สีฟ้าเก่า ๆ แห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ระหว่าง Gump’s และ Josh Hotel เบื้องหลังกำแพงมีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ ยากจะเดาว่าข้างในคืออะไร ไม่แปลกเลยที่หลายคนจะไม่สนใจมัน หลายครั้งประตูสีฟ้านี้ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าลานจอดรถเล็ก ๆ ของไรเดอร์ที่มารับออเดอร์แถวนั้น
ปูชนียบุคคลของไทยที่เคยถูกมองว่าเป็น ‘ปีศาจทางการเมือง’
ที่จริงแล้ว หลังกำแพงนี้คือบ้านไม้ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังอยู่ในสภาพเดิม ไม่มีการต่อเติมเปลี่ยนแปลงใด ๆ บ้านหลังนี้คือบ้านของปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทย นักเศรษฐศาสตร์ที่ยุคหนึ่งเขาขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้กับประเทศ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คณบดีคนที่ 10 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญที่เคยลุกขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการ จนถูกมองว่าเป็น ‘ปีศาจทางการเมือง’ เป็นคอมมิวนิสต์ในสายตาของคนยุคหนึ่ง
นอกจากนี้สมัยหนุ่ม ๆ อาจารย์ป๋วยยังเคยเป็นหนึ่งในสมาชิก ขบวนการเสรีไทย ที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในสภาพผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สองด้วย
บ้านไม้ชั้นเดียวหลังนี้ เป็นบ้านที่พี่สาวของอาจารย์ป๋วย (น้อม ล่ำซำ) ได้ช่วยจัดหาไว้ให้อาจารย์ป๋วยอยู่เมื่อพาครอบครัวกลับมาจากอังกฤษ หลังจากเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics และเริ่มทำงานในกระทรวงการคลังที่ตั้งอยู่ภายในซอยอารีย์นี่แหละ
บิดาของบุตรผู้สร้างคุณูปการต่อประเทศ
อาจารย์ป๋วยกลับมาไทยพร้อมกับภรรยาชาวอังกฤษ มากาเร็ต สมิธ (Margaret Smith) และลูกชายสองคนคือ จอน (John) และ ไมตรี (Peter) อึ๊งภากรณ์ ก่อนจะให้กำเนิดลูกชายอีกคนคือ ใจ (Giles) อึ๊งภากรณ์ ที่นี่ บุตรทั้งสามของอาจารย์ป๋วยต่างโตขึ้นมาเป็นผู้ที่สร้างคุณูปการต่อประเทศทั้งสิ้น
“สมัยก่อน มองไปก็เห็นแต่ทุ่งนา แล้วก็มีควาย”
อาจารย์จอนนักวิชาการรางวัลแมกไซไซ วัย 72 ปีบอกกับพิธีกรของไทยพีบีเอส “บ้านนี้ไม่เคยมีทีวี ไม่เคยมีแอร์” และด้วยความที่ “คนฝรั่ง” เป็นของแปลกสำหรับคนไทยในสมัยนั้น มากาเร็ต จึงต้องขอให้สร้างกำแพงขึ้นเพื่อบังสายตาไม่ให้ชาวบ้านมาคอยดูเด็กฝรั่งลูกชายของตัวเอง
ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2516 อาจารย์ป๋วย ถูกฝ่ายขวาโจมตีอย่างหนักว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่นิยมเจ้า จึงต้องลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีที่ธรรมศาสตร์ และลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่อังกฤษ และไม่มีโอกาสได้กลับมาอีกเลย
ในบ้านไม้หลังเล็ก ประตูสีฟ้า
ย่านอารีย์และย่านข้างเคียงมีบ้านบุคคลสำคัญที่สวยงามมากมาย แต่ไม่มีบ้านหลังไหนที่เรียบง่าย สมถะ เท่าหลังนี้ ในช่วงที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านเคยเสนอสร้างบ้านใหม่อาจารย์ป๋วย แต่อาจารย์ป๋วยปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าบ้านที่มีอยู่นี้ก็ดีอยู่แล้ว มีความคิด ความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมายที่อาจารย์ป๋วยตกผลึกในบ้านไม้หลังเล็ก ๆ หลังนี้
ฉันคงไม่กิจอะไรที่จะไปสืบว่าตอนนี้บ้านนี้ยังมีใครอยู่ไหม บอกได้แค่ว่า ครั้งต่อไปที่เราเที่ยว Gump’s ก็อย่าลืมปรายตามองประตูสีฟ้าแห่งนี้ และรำลึกถึงบุคคลสำคัญของคนหนึ่งในประเทศของเรา
อ้างอิง:
Comments are closed.