ห้าโมงเย็นวันนี้ ที่อารีย์ฝนไม่ตก ฉันอยู่ที่อารีย์ซอย 1 ที่บ้านหลังเก่าติดกับโรงเรียนสวนบัว บ้านหลังนี้เป็นที่ชาวอารีย์จะรู้จักในฐานะร้าน Landhaus ร้านเบเกอรีสไตล์เยอรมันแท้ ๆ ที่มาเช่าพื้นที่ทำร้านจนมีชื่อเสียงได้หลายปี สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือชั้นสองของบ้านหลังนี้ เป็นพื้นที่ขนาดเท่าห้องนอนห้องหนึ่ง ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโชว์รูม เสื้อผ้า และของใช้เล็ก ๆ ของ BDS Collective แบรนด์สินค้า ยั่งยืน มีราวแขวนผ้าไม่กี่ราว และถ้วยชาม ช้อนส้อม ที่ทำจากไม้วางเรียงราย โต๊ะทำงานหนึ่งโต๊ะที่ดูแสนธรรมดาตั้งอยู่
ที่นี่ คือห้องทำงานและร้านของสองสาวที่เรียกตัวเองว่า BDS Collective หนึ่งคือเซดัม สาวเกาหลีที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการแฟชั่นทั้ง Haute Couture และ Fast-Fashion หลายประเทศ จนมาตกหลุมรักเมืองไทย และเชียงใหม่สอนให้เธอรู้ว่า มีสายการผลิตเสื้อผ้าที่รับผิดชอบต่อโลกในราคาที่เป็นธรรมต่อช่างฝีมือได้ จนตัดสินปักหลักที่อารีย์ ทำเสื้อผ้าส่งขายลูกค้าเกาหลี
แต่เสียดายที่วันนี้เซดัมไปทำภารกิจที่เกาหลี เราจึงได้เจอกับอีกหนึ่งหุ้นส่วนของที่นี่นั่นคือ มิว เจ้าของโรงแรม พอร์ ท่าแพร เกท โรงแรมเล็ก ๆ ใกล้ประตูเมืองท่าแพ โรงแรมที่ใส่ใจต่อการบริการแขกพอ ๆ กับการลดส่งต่อขยะจากการเข้าพักไปสู่สิ่งแวดล้อมเมืองเชียงใหม่ – สำหรับ BDS Collective มิวใช้ความสามารถด้านการบริหารโรงแรมดูแลด้านการตลาด
“สวัสดีค่าาา”
มิวทักทายเสียงเจื้อยแจ้ว สวมชุดจัมป์สูทแขนกุด สีขาวเรียบง่าย ท่าทางสบาย รวบผมทะมัดทะแมง – ฉันทักทาย และเดินตรงไปสำรวจกางแพงผ้าฝ้ายที่หมายตาเอาไว้ตามประสาคนที่มาที่นี่บ่อยจนคุ้นตากับมุมต่าง ๆ ในห้อง
แล้วการนั่งคุยเจ๊าะแจ๊ะพลางเลือกเสื้อผ้าที่หมายมั่นไว้จากบ้านก็เริ่มขึ้น
BDS Collective จุดเริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนบ้าน
“มิวมาเจอเซดัมได้ยังไงเหรอครับ”
“เราเป็นเพื่อนบ้านกันที่เชียงใหม่ค่ะ ตอนนั้นมิวทำโรงแรม และเซดัมก็ทำแบรนด์ BDS Collective (BDSC) มาอยู่แล้ว ย้ายมาอยู่เชียงใหม่คนเดียว ทำธุรกิจแบบลุยเดียวเลย เราสองคนสนิทกันเร็วมาก เพราะว่าเราชอบอะไรเหมือนกันหลาย ๆ อย่าง รวมไปถึงการธุรกิจแบบ Sustainable ด้วย มีอะไรเราก็แนะนำกันได้ ฝากโฆษณาแบบไม่คิดเงินเลย เซดัมเราจะอุดหนุนของใช้ต่าง ๆ มาไว้ที่โรงแรมด้วยค่ะ”
“ซักพักนึงเซดัมก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ กลายเป็นว่าถ้าวันไหนมิวมากรุงเทพฯ ก็จะมาพักกับเซดัม ช่วงหลังมานี้โรงแรมโดนโควิดลงค่ะ ก็เลยเงียบ ๆ เราก็ต้องหาอะไรทำ เราก็ช่วยงานต่าง ๆ กับเซดัมบ้างเป็นการตอบแทนไป จนเซดัมบอกว่า นี่ ถ้าจะช่วยขนาดนี้มาเป็นหุ้นส่วนทำด้วยกันเลยดีไหม เราก็แบบ ‘แหม ว่างพอดีเลยค่า!’
เซดัมเป็นสาวเกาหลีรูปร่างผอมสูงเหมือนนางแบบ และการแต่งตัวเรียบ แต่โก้ บ่งบอกถึงวงการไฮแฟชันที่เธอคุ้นเคยอยู่เป็นสิบปี ความยิ้มเก่งของสองสาวทำให้ร้าน BDS Collective ดูน่าเข้าหา กล้าเข้ามานั่งคุยแวะดูเสื้อผ้าแบบนี้บ่อย ๆ
หลังจากที่เธอตัดสินใจลงหลักปักฐานทำเสื้อผ้าของใช้แบบยั่งยืนแล้ว เซดัมก็จัดการเดินทางทั่วประเทศไทย ไปดูข้าวของผลิตภัณฑ์ โอท็อปของชาวบ้านต่าง ๆ หลายจังหวัดไปหมด ด้วยความที่เป้าหมายของเธอคือการส่งผลิตภัณฑ์ฝืมือคนไทย ไปขายที่เกาหลี เธอมักจะลงเอยด้วยการเปิดรูปให้ชาวบ้านดู ว่า
“ถ้วยแบบนี้ ที่เกาหลีชอบมาก แต่มันมีเป็นพลาสติก ช่วยทำแบบไม้ได้ไหม?”
ไม้กระถิน VS ไม้อะคาเชีย
ถึงตรงนี้มิวก็เดินไปหยิบช้อนส้อมไม้จำนวนหนึ่งขึ้นมา แล้วบอกว่า
“ไม้เนี่ย มันคือไม้กระถิน เป็นไม้ไทยหาได้ทั่วไป พอมีคนมาถามพอบอกไม้กระถินปุ๊บ ลูกค้าวางเลยค่ะ อาจจะดูธรรมดาเกินไป ทุกวันนี้มิวเลยเรียกว่า ไม้อะคาเชีย”
“พี่รู้ไหมว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคนไทยอ่ะ คนเกาหลีเขาจะรู้กันเลยว่าเป็นสินค้างานฝีมือคุณภาพ”
เรามองดูถ้วยไม้หน้าตาออกจะประหลาดเล็ก ๆ มิวอธิบายว่า นี่คือถ้วยใส่ข้าวผัดบิมบิบับ ที่จะต้องมีก้นลึกจะใช้ตะเกียบได้และมีขนาดใหญ่พอจะอิ่ม 1 มื้อ ส่วนมากที่เกาหลีจะมีขายแค่แบบเซรามิกหรือไม่ก็สเตนเลสไปเลย นั่นทำให้เซดัมลองริเริ่มสั่งถ้วยแบบนี้จากกลุ่มฝีมือจากบุรีรัมย์ ชลบุรี และเชียงใหม่ ติดต่อตรงไปทางหมู่บ้านเลย โดยต้องให้มั่นใจว่ากลุ่มฝีมือจะต้องได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ลดคาร์บอนฟุตปริ้นต์ในการขนส่ง และลูกค้าที่เกาหลีจะต้องได้ของคุณภาพดี
เรื่องไม้กระถินของมิว ทำให้นึกถึงเพื่อนบ้านอารีย์อีกคนหนึ่ง นั่นคือเชฟแวน เฉลิมพล เชฟดังที่เคยเล่าให้ฉันฟังว่า เคยตั้งชื่อเมนูเป็นชื่อปลาภาษาไทยตามที่ซื้อมาจากชาวประมง ไม่มีคนสั่งเลย แต่เปลี่ยนชื่อปลาในเมนูเป็นภาษาญี่ปุ่นกลับมีคนสั่งถล่มทะลาย ทั้งที่มันคือเมนูเดียวกัน เชฟแวนเคยบอกว่าเราแทบไม่สามารถทำให้วัตถุดิบไทย ๆ มันดูมีราคาขึ้นได้เลย
ในขณะที่เซดัมเป็นคนเกาหลีที่เห็นคุณค่าของงานฝีมือไทย และส่งขายต่างชาติ สร้างรายได้ให้ตัวเองเป็นกอบเป็นกำ – รวมไปถึงเสื้อผ้าสบาย ๆ ในแบรนด์ที่ชื่อว่า WEARLESSWEAR ด้วย
ใครบอกว่า ชุดอยู่บ้านใส่ไปข้างนอกไม่ได้?
WEARLESSWEAR คือไลน์เสื้อผ้าของ BDS Collective ที่ออกแบบโดยเซดัมเอง มันมีจุดเริ่มต้นแบบเดียวกันกับสินค้าไม้ นั่นคือการเห็นความต้องการซื้อในเกาหลี มันเริ่มจากชุดนอนผ้าฝ้ายสีพื้นกุ๊นขอบเสื้อสีขาวดูเป็นชุดนอนสบาย ๆ เป็นชุดนอนที่หาดูได้ตามซีรีย์เกาหลีทั่วไป เราให้ช่างฝีมือไทยผลิตอย่าง sustainble และส่งไปขายทีเกาหล
“เซดัมเขามองว่า ตลาด Sustainable มันตื่นตัวกว่าที่เกาหลีน่ะค่ะ ถ้าบอกว่าอันนี้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมต่อผู้ผลิต คนที่นู่นก็จะอยากซื้อมากขึ้น ส่วนหนี่งเพราะรัฐบาลเขารณรงค์ด้วย แต่ยังมีสินค้าไม่มาก พอบอกว่าเป็นของไทย คนก็สนใจ”
ฉันเดินไปหยิบกางเกงผ้าฝ้ายตัวหนึ่งที่หมายตามาไว้จากที่บ้าน ต้องบอกตามตรงว่า ยิ่งนับวันฉันยิ่งซื้อเสื้อผ้ายากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป้าหมายหลักที่สำคัญขึ้นเรื่อย ๆ คือซื้อยังไงไม่ให้ใส่แล้วทิ้ง ฉันอยากมีกางเกงซักตัวที่หน้าตาพื้น ๆ ดูไม่เรื่องมาก ใส่สบาย เข้ากับทุกสถานการณ์ เหมือนไม่ได้ตั้งใจดูดี แต่ก็ดูดี หยิบขึ้นมาสวมจึงเห็นความยืดหยุ่น เบาสบายของผ้า และขนาดที่เหมือนสร้างมาเพื่อฉันพอดีเป๊ะ
“คือพอทำ ๆ ไป เซดัมเขาก็ตั้งใจลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำยังไงให้คนซื้อเสื้อผ้าแล้วได้ใส่บ่อย ๆ ก็เลยออกแบบอะไรที่มันใส่สบายทั้งตอนอยู่บ้าน และก็ออกข้างนอกได้ด้วยเลย” มิวอธิบายอย่างมั่นใจขณะยืนอยู่ข้างหลังฉันที่กำลังส่องกระจก
Slow Fashion
คำว่า Slow Fashion เป็นสิ่งที่ได้ยินหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ปัญหาเรื่อง Fast Fashion เป็นที่พูดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก รองจากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผ้าฝ้ายที่ปลูกมักมาจากแรงงานปลุกฝ้ายมหาศาลที่ต้องอยู่กับยาฆ่าแมลงที่ต้องใช้ทุกวัน กว่าจะได้ผ้าฝ้ายมาหนึ่งผืนก็ใช้น้ำไปหลายร้อยแกลลอน หากเป็นเส้นใยสังเคราะห์ ก็มักจะกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อสลายได้ เพราะรู้หรือไม่ว่าโพลิเอสเตอร์ที่ถูกผลิตขึ้นมาบนโลกนี้ หกสิบเปอร์เซนต์เขาเอาไปทำเสื้อผ้า มากกว่าขวดน้ำเปล่าที่เรารณรงค์กันเสียอีก ยังไม่รวมตอนเรานำเอาผ้าโพลิเอสเตอร์ไปซัก ที่มันจะปล่อยไมโครพลาสติกลงไปในน้ำทุกครั้งด้วย
นี่เป็นแค่แง่มุมทางด้านการเลือกใช้วัสดุในการผลิตเท่านั้น เชื่อว่าหลายคนคุ้น ๆ กันมาบ้าง แต่ถ้าอยากรู้เพิ่มเติม ลองหาหนังสือชื่อ Fashionopolis: The Price of Fast Fashion and the Future of Clothes มาอ่าน หรือไม่ก็เข้าไปที่เว็บไซต์ของ Fashion Revolution Thailand ก็ได้นะ
กลับมาที่ Slow Fashion สิ่งนี้คืออะไร ก็คือตรงข้ามกับ Fast Fashion นั่นแหละ สินค้า Slow Fashion มักจะเน้นความคงทน เน้นให้ราคาที่ยุติธรามแก่ผู้ผลิต (Fair Trade) ใช้ผ้าออร์แกนิก ใช้สีย้อมผ้าธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเมื่อเป็นขยะเศษผ้าได้ เอื้อต่อความ ยั่งยืน มากกว่า บางเจ้าอาจจะคิดไปถึงว่า พืชที่ปลูกมาทำเป็นผ้านั้นทำลายหน้าดินขนาดไหน สามารถเวียนมาปลูกไหมหรือเปล่า – แต่ข้อเสียของมันก็คือราคาสูงกว่าทั่วไป
สำหรับ เสื้อผ้า WEARLESSWEAR ก็เช่นกัน
“ลายผ้าสมัยนี้อยากได้อะไรก็เสกได้ วาดเอาได้เลย เอาสีนี้ เอาลายนี้ ทำได้หมด โดยใช้สารเคมีค่ะ แล้วสั่งให้จีนผลิต แต่สำหรับเรา เซดัมไปเลือกผ้าที่มีอยู่เเล้วเอง ไม่ได้ผลิตใหม่เพื่อลดคาร์บอนฟุตปริ้นจากการส่งกันไปส่งกันมา พวกเราก็ผลิตแค่ปีละครั้ง ปีละไม่กี่ตัว เราก็ทะยอยขายช้า ๆ ทำมาสามสี่ปี เสื้อผ้า แบบแรกก็ยังขายอยู่เหมือนเดิม เซดัมเขาพยายามไม่ออกคอลเคลชันใหม่บ่อยจนเกินไป ไม่อย่างนั้นคอลเลคชันเก่าคนก็จะไม่ซื้อค่ะ”
“เราพยายามลดขั้นตอนการใช้สารเคมีในการผลิตด้วย โดยปกติแล้วจะย้อมผ้าให้มันติด มันก็ต้องใช้สีเยอะใช่ไหมคะ แต่สมัยนี้เขาก็ลดต้นทุนด้วยการใช้สารเคมีทำให้สีมันติดผ้า มันจะมีบางสี พวกสีเข้ม ๆ เราก็จำเป็นต้องใช้สารเคมี ไม่งั้นซักแล้วสีหลุด แต่เราก็จะลดจำนวนครั้งที่เราใส่สารเคมีลงไป เช่นจากโรงงานทั่วไปใส่ 3 ครั้งเราก็จะเหลือแค่ครั้งเดียว เรื่องพวกนี้มาจากประสบการณ์ของเซดัมในการทำงานในวงการฟาสต์แฟชันทั้งนั้นเลยค่ะ”
“ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เราก็ทำได้แค่ทำได้แค่ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้แค่นี้แหละค่ะ”
ฝากถึงคนที่สนใจธุรกิจเพื่อความ ยั่งยืน (Sustainable business)
“เตรียมตัวหดหู่ไว้ก่อนเลย พอเราเริ่มศึกษาปัญหา เราก็เห็นอะไรที่ทำให้เรารู้สึกหนักใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นสีแม่น้ำก็รู้สึกหดหู่ แถมยังหดหู่ว่าเราจะมาทวนกระแสโลกไปทำไม ทั้งด้วยราคาขายที่มันแพง ก็อาจจะมีผลกระทบต่อรายได้ ถ้ามิวอยากรวย มิวคงไปซื้อ เสื้อผ้า จากจีนมาขายต่อ ต้นทุน 50 บาท มิวขาย 300 ก็ได้ แต่เราจะเจอลูกค้าที่เขาเชื่อในคุณภาพและมั่นใจในความรับผิดชอบในการผลิตของเรา แล้วเขาจะเป็นลูกค้าประจำ”
“มิวกับเซดัมมักจะคุยกันตลอดว่าเราทำธุรกิจเนี่ย เราไม่ได้อยากจะรวยล้นฟ้า เราอยากรู้สึกดีกับสิ่งที่ตัวเองขาย”
เวลาเกือบหกโมงเย็นแล้ว ฉันใส่กางเกงตัวใหม่ผ้าเย็นสบาย ยังทบทวนบทสนทนากับมิวอยู่ เป็นการสัมภาษณ์ที่ช่วยให้ตกผลึกความคิดเราได้มาก อันที่จริงแล้ว ฉันต้องการแค่กางเกงสองตัวเอาไว้ซักสลับกันหรือเปล่านะ อันที่จริงแล้ว อนาคตของการออกแบบ เสื้อผ้า อาจจะไม่ใช่แต่งตัวยังไงให้โดดเด่นหรูหราที่สุด แต่ความหรูหราที่แท้จริง คือความพิถีพิถันที่จะเลือกสิ่งที่ลึกลงไปกว่าหน้าตาของเสื้อผ้าที่ใส่ก็ได้
_____ BDS Collective เสื้อผ้า และ ความ ยั่งยืน
ติดตาม BDS Collective ได้ทาง Facebook และ Instagram
และเลือกซื้อสินค้าของแบรนด์ได้ทาง Lazada
Comments are closed.