Author

Joe_yourneighborari

Browsing

ผมได้รับคำชวนจากเพื่อนบ้านอารีย์ให้มาทำความรู้จักและนั่งคุยกับเจ้าของร้านขายเทปคาสเซ็ทที่มีชื่อง่าย ๆ ว่า “ ร้านเทป ” หรือ “Cassette Shop” ย่าน ประดิพัทธ์ คนชวนถึงกับออกปากว่า “มาแล้วจะต้องชอบ” มีหรือจะปฏิเสธ

จากประดิพัทธ์ซอย 19 เดินเข้ามาสัก 200 เมตร ผ่านบ้านที่เป็นร้านขายแผ่นเสียงร้านดังของย่านประดิพัทธ์ ที่ตั้งชื่อง่าย ๆ พอกันว่า “ร้านแผ่นเสียง” ทางซ้ายมืออีกเช่นกัน เราจะเห็นอาคารชุดสไตล์วินเทจดูน่าหลงไหล ซ่อนตัวอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ เดินเข้าไปที่ห้องชุดที่สอง มองขึ้นไปที่ระเบียง ไม่มีป้ายร้านจากด้านนอก ถ้าเห็นศิลปะและของสะสมนานับสิ่งของเจ้าของร้านติดอยู่บนผนังแสดงว่าคุณมาถึงแล้ว

“พอได้เดินเข้ามาที่ ซอยศาสนา แล้วรู้สึกคุ้นชินเหมือนกลับมาอยู่ซอยบ้านตัวเอง บ้านเราก็เป็นตึกแถวเก่า ๆ มีโครงเหล็กดัดที่หน้าต่าง เหมือนกับตึกแถวที่ซอยศาสนาเป๊ะเลย ตอนที่เราเดินเข้าไปเราเลยรู้สึกอบอุ่น รู้สึกอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ในทางกลับกัน ถ้าถามว่าสิ่งที่เราสัมผัสได้จากซอยอารีย์คืออะไร เราคงรู้สึก “ตรงกันข้าม” กับความรู้สึกที่มีกับซอยศาสนา เพราะความหรูหราในซอยอารีย์มันห่างไกลความเป็นบ้านในเขตบางแคของเรามากครับ

ก็เลยคิดว่า ถ้าจัดนิทรรศการศิลปะ เราคงเลือกดอกดาวเรือง เพราะไม่ว่าจะที่ซอยอารีย์ หรือซอยศาสนา เราจะเห็นพวงมาลัยดอกดาวเรืองอยู่ในทุก ๆ ที่ ไม่ว่าจะแขวนอยู่ที่หน้าศาลพระภูมิของอพาร์ตเมนต์ เกี่ยวอยู่กับต้นไม้ข้างร้านรถเข็น หรือแม้แต่วางอยู่บนหิ้งพระในบ้าน เรารู้สึกว่าดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่ผู้คนที่ต่างฐานะ ต่างชนชั้น ต่างที่มา มีความเห็นร่วมกันทางด้านความเชื่อ และยอมเสียเงินเพื่อซื้อดอกไม้ชนิดนี้เพื่อความหวังในการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

สำหรับเราเราเห็นว่ากำแพงที่มันคอยแบ่งแยกผู้คนออกจากกันด้วยเงื่อนไขทางสังคม หรือเศรษฐกิจ มันถูกทำลายไปได้ด้วยความเชื่อเรื่องโชคลาภ และความต้องการจะมีความหวังผ่านพวงมาลัยดอกดาวเรืองเหล่านี้ครับ”

“เมื่อไม่นานมานี้เราชวนคนมาเดินเก็บ ขยะในซอยอารีย์ เราเองก็ย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่อยู่ ม.5 สมัยนี้อารีย์ชิคมาก เลยมักจะคิดไปเองว่าอารีย์สะอาดกว่าที่อื่น ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราเดินจาก GUMP ไป Yellow Lane Cafe  ก็เก็บขยะไปเยอะไม่น้อยกว่าที่อื่นเลย เราเป็นคนที่เติบโตและทำงานมากับ ทะเล อยากบอกว่า ขยะ ที่เห็นที่ ทะเล ส่วนมากมันก็มาจากที่ทิ้งบนบกเนี่ยแหละ ถ้าเรายังไม่ลดการสร้างขยะ มันก็ทำให้ปริมาณขยะมันก็จะมากเกินกว่าจะเอาไปรีไซเคิลหรือจัดการอะไรได้ พวกพลาสติกที่ทิ้งอยู่ในบ่อขยะ มันก็จะถูกลมพัดปลิวลงแม่น้ำไปได้เรื่อย ๆ

ขยะที่เราเจอเยอะและบ่อยที่สุดในอารีย์คือก้นบุหรี่ค่ะ เพราะว่ามันมีขนาดเล็ก และวันนึงคนก็สูบวันละหลายมวน ต้องมีที่เขี่ยบุหรี่ถึงจะทิ้งได้ และบุหรี่มันมีส่วนที่เคลือบด้วยพลาสติก มันจึงไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และด้วยขนาดเล็ก ทำให้มันไหลลงท่อระบายน้ำ หรือแม่น้ำลำคลองได้ง่ายกว่าขยะแบบอื่น ๆ

ตอนที่เราไปอาสาช่วยรักษาน้องพะยูนมาเรียมก็เฮิร์ทมาก เพราะหลังจากที่น้องเสียแล้ว หมอเขาผ่าชันสูตรศพมาเรียมพบว่ามีถุงพลาสติกอุดตันในลำไส้จึงทำให้การรักษามาเรียมที่ป่วยอยู่ในตอนนั้นเป็นไปได้ยาก พอเราไปเที่ยวทะเลไม่ว่าที่ไหนก็ตามเราจะเก็บขยะเท่าที่เราทำได้ เพราะทะเลเป็นมากกว่าแค่สถานที่พักผ่อน แต่ทะเลคือแหล่งอาหารสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมถึงมนุษย์เราด้วยค่ะ”

“ตอนนี้มีแต่คนขยาดกับคำว่า “บริษัทเราทำงานเหมือนครอบครัว” แต่สำหรับงานที่ผมทำ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในครอบครัวจริง ๆ ผมเป็นพนักงานที่ร้าน ไอติม Guss Damn Good มาตั้งแต่สาขาแรกเลย บ้านผมเป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง เราก็ต้องดิ้นรนหาเงิน ตอนนั้นผมต้องหางานหารายได้ไปสมัคร Work and Travel เพื่อที่จะไปหาเงินอีกที ผมก็เลยมาทำงานเป็นคนตักไอติมตอนนั้น เป้าหมายคือแค่เพราะต้องหาเงินจริง ๆ

แต่ตอนจะไปพี่ ๆ เจ้าของแบรนด์เขาบอกกับเราว่า พีทกลับมาเมื่อไหร่ พีทมาทำงานกับเรานะ คือเขาจะเช็กความสัมพันธ์กับเราตลอด ผมว่า หัวหน้าที่ดีคือหัวหน้าที่ใส่ใจ ไม่ใช่แค่ว่ามีเป้าหมายแล้วให้ลูกน้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ แต่เขาต้องช่วยเราเรียนรู้ด้วยว่าไปถึงจุดนั้นได้ยังไง

ความฝัน ผมอยากเป็นนักวาดภาพประกอบตามความชอบของเราแหละครับ แต่ถ้าพูดจริง ๆ มันก็คืออยู่กับแบรนด์นี้แหละ อยากจะเติบโตทางอาชีพไปพร้อม ๆ กันครับ”

“เสื้อตัวนี้แลกได้มาจากงาน Clotheswap ปีที่แล้วครับ คือมันไม่ได้ดูมีราคาขนาดนั้นนะ แต่เห็นหรือใส่แล้วรู้สึก Spark joy ดีต่อใจ เพราะเราชอบเสื้อผ้าเรียบ ๆ หรือมีกิมมิกนิดหน่อยไม่เยอะมาก มันดูอยู่กับเราได้นาน ไม่เบื่อง่าย ไม่มาไวไปไวเหมือนเสื้อผ้า Fast fashion

ช่วงหลังมานี้ อินกับการเป็น Minimalist มาก แต่ไม่ได้สุดโต่งนะ เราแค่พยายามมีสติกับการเอาอะไรเข้าบ้านมากขึ้น ข้าวของส่วนใหญ่เลยมีฟังก์ชันที่หลากหลายและให้ประโยชน์เป็นอันดับแรก รองลงมาคือความสวยงาม จรรโลงใจ แล้วก็พบว่าการมีของน้อย มันทำให้ตัวเราเบาขึ้น สบายใจขึ้น และที่สำคัญห้องไม่รกมาก (หัวเราะ)

อย่างเสื้อผ้านี่ก็จำกัดไม้แขวน ที่เหลือก็พับเข้าชั้น ใส่จริง ๆ ก็ไม่กี่ตัวหรอก ถ้าล้นชั้นก็จะเริ่มเอามาพิจารณมาใหม่ แล้วก็ตัดใจบริจาค”

“รอลุ้นหวยอยู่จ้า ถ้าถูกงวดนี้กิน ขนมถ้วย ฟรีไปเลย!

วันนี้ป้าน้อยอารมณ์ดี ขายได้เยอะ ดูสิเหลือแค่นี้เอง จาก 700 ถ้วย ถือว่าขายดีนะ ขนมถ้วย ของป้าเนี่ย จะไม่ใช่ขนมถ้วยแบน ๆ อันนั้นเขาขายในร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ป้าทำแบบนั้นมันใส่กล่องขายไม่ได้ หน้ามันเละ ขนมถ้วยที่ดีป้าจะบอกให้นะ ตอนนึ่งอย่าตั้งไฟแรง ตั้งไฟอ่อน ๆ ไม่งั้นไม่เค็ม ไม่มัน

ที่เห็นนี่ป้าทำเองไม่ไหวหรอก! วันนึงเป็นพัน ๆ ถ้วยต่อวัน กว่าจะทำ กว่าจะล้าง ป้าเช่าบ้านอยู่กับคนขายหนมถ้วยอีก 4 คน ผู้หญิงสามผู้ชายสอง ตื่นเช้ามาเราก็ทำขนมถ้วยด้วยกัน วันละประมาณ 700-1,000 ถ้วย เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันเข็นขายแถวนี้แหละ ซึ่งถ้วยเซรามิกมันหนักมาก ขายเสร็จเราก็ต้องมานั่งล้างถ้วยด้วยกันเป็นกะละมัง มันก็เป็นแบบนี้แหละจ้ะ”

จำข่าวหมูแพงเมื่อต้นปีได้ไหม ตอนนั้นนอกจากหมูก็ทำอย่างอื่น แพง ตามไปด้วย เดินไปทางไหนใน อารีย์ ก็เห็นป้ายราคาตามร้านข้าวมีเทปกาวแปะทับ เขียนราคาใหม่ที่ปรับขึ้นไปกันหมด ตอนนี้ผ่านไปสามเดือนแล้ว ไม่รู้ว่าหมูหายเป็นโรคหรือยัง แต่ที่แน่ ๆ ราคาที่ขึ้นไป ดูเหมือนจะไม่กลับลงมาแล้ว

พี่จุ๋ม ร้านก๋วยเตี๋ยว อารีย์

แต่ก่อนห้าทุ่มเที่ยงคืนยังมีคนมากินอยู่เลย เดี๋ยวนี้ไม่รู้จะติดแก๊ซอุ่นหม้อไว้ทำไม สี่ทุ่มก็เก็บแล้ว มันไม่มีคน ข้าวของก็แพง ขึ้นทีกำไรเราก็หาย ก็ไม่พอกิน อย่างอื่นก็ขึ้น พักหลังมานี้เอาแต่ขึ้นอย่างเดียวไม่ลงเลย
พี่จุ๋ม ก๋วยเตี๋ยวกลางคืน ปากซอยอารีย์  

คนรายได้ปานกลาง ยังอยู่ อารีย์ ไหวไหม แพง ไปหรือเปล่า?

จากที่เคยถามไถ่เวลาซื้อกับข้าว พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบต้องปรับขึ้น จะเป็นร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวสตรีตฟู้ดข้างทาง ซึ่งเป็นปากท้องของคนชนชั้นกลางรายได้ไม่สูงมาก ที่ยังจะพอจะอดทนสู้กับค่าเช่าห้องย่านนี้ที่มักเริ่มต้นที่ 8,000 บาท ขึ้นรถไฟฟ้า และต้องซื้อข้าวแกงกินทุกวัน ราคาที่สูงขึ้นทำให้ค่าครองชีพที่สูงอยู่แล้ว สูงขึ้นจนกลายเป็นการใช้ชีวิตที่นี่ยิ่งเข้าเนื้อเงินเก็บไปเรื่อย ๆ

ถ้าคุณมีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 50,000 บาทตอนนี้ ดีใจด้วยนะ คุณคือคนส่วนน้อยมาก ๆ ในประเทศไทย เมื่อปี 63 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า 86.59% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดของประเทศ มีเงินฝากอยู่ไม่เกิน 50,000 บาท ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่ที่น่าแปลกใจคือแทบทุกครั้งที่มีคอนโดใหม่ขึ้นตามเส้นพหลโยธิน มักจะได้ยินว่าโครงการขายหมดเกือบครึ่งภายในวันเดียว สรุปว่าประเทศนี้จะเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีกันแน่

มนุษย์ที่มีเงินในบัญชีน้อยกว่า 50,000 บาทก็คือมนุษย์เดินดินที่ต้องขึ้นรถไฟฟ้าแล้วถูกป้ายโฆษณาตามสถานีกดดันว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ต้องแย่งชิงคอนโดเล็ก ๆ ราคาแพง ๆ ติดบีทีเอสนั่นแหละ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตใจฝันแบบที่การตลาดสะกดจิตแล้ว แต่ก็ไม่วายต้องทอดถอนใจเวลาเจอราคาก๋วยเตี๋ยวที่แพงขึ้น ราคารถไฟฟ้าที่แพงขึ้นอย่างช้า ๆ และอย่างไม่มีวันกลับ

บ้านเกิดเราอยู่ที่หมู่บ้านพิบูลวัฒนา ที่นี่เป็นต้นแบบของหมู่บ้านจัดสรรของประเทศไทย คนส่วนใหญ่ที่มาซื้อโดยมากจะเป็นข้าราชการทหาร คุณตาเราท่านก็เป็นทหารทำงานอยู่แถวนี้เหมือนกัน เลยซื้อที่ไว้แปลงหนึ่ง
โบ นักวิจัย และเจ้าของเพจ  จารย์ไทยในดงผู้ดี 

อารีย์เป็นผู้ดีมาแต่เก่าก่อน จากการคุยกับเพื่อนบ้านที่เป็นเจ้าของบ้านหลังใหญ่โต (และลูกเจ้าของบ้าน) ที่นี่ มักจะพูดตรงกันว่าที่นี่เป็นย่านอยู่อาศัยที่ต้องการความสงบ คนที่อยู่มาก่อนที่นี่ (ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักการเมือง) ไม่ได้มีความกดดันทางการเงินที่จะต้องขายที่ดินที่มูลค่าสูงนี้ไปทำอะไร ราคาที่ดินพหลโยธินซอย 7 จากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครประเมินไว้ที่ 150,000 บาทต่อตารางวา ถ้าเราอยากมีบ้านที่มีความกว้าง 160 ตรม. เราต้องมีเงิน 6 ล้านบาท และนี่คือราคาประเมิน ไม่รู้เหมือนกันว่าเจ้าของที่จะขายให้เราเท่าไหร่ แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์ 86% ทั่วไปคงไม่คิดจะมาซื้อบ้านแถวนี้

แต่เวลาก็เปลี่ยนแปลงไป บ้านเก่าหลังใหญ่ที่เคยเรียงรายริมเส้นพหลโยธินก็ทยอยกลายเป็นคอนโดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดอะไรขึ้นหลังจากมีอาคารสูงเหล่านี้ขึ้นล่ะ คนเยอะขึ้นแล้วหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือ ยิ่งคอนโดแม้แต่ใน อารีย์ แพง เท่าไหร่ คนที่มาอยู่ก็มีรายได้สูงมากขี้นตามไปด้วย ทีนี้แกงถุงอย่างละ 40 บาทจะเปลี่ยนเป็น 80 บาทก็ไม่กระทบกลุ่มนี้สักเท่าไหร่

ย่านอารีย์ขาดอะไร

วันก่อนฉันโพสต์ถามผู้อ่านว่าย่านอารีย์ต้องการอะไร คำตอบส่วนมากคือ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ห้องสมุด หรือรวม ๆ ก็คือพื้นที่สาธารณะ อันเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในกรุงเทพไม่ว่าย่านไหน

การมีสวนสาธารณะและคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นเป็นสิ่งที่ฉันเฝ้าจะเห็นก่อนตายในประเทศนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ตามติดมาพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี คือราคาที่ดินที่แพงขึ้น ยิ่งตรงไหน “น่าอยู่” มาก ค่าเช่าแถวนั้นก็จะแพงขึ้นตามเป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติของความเจริญเนอะ แต่เราต้องอย่าลืมเช็กว่านั่นคือความต้องการของชนชั้นกลางรายได้สูงหรือเปล่า เราจะทำพื้นที่สาธารณะอย่างไรที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสาว 28 ทำงานครีเอทีฟโฆษณา กับพี่วินมอเตอร์ไซค์รายได้วันละ 400 บาทสามารถอินกับประโยชน์ของมันได้เท่ากันด้วย

Om, Owner of Hor Hidden Cafe

สิ่งที่อารีย์ขาดแบบเห็น ๆ เลยคือกิจกรรม มันไม่มีอะไรทำ คนส่วนใหญ่มาอารีย์ มากินข้าว กินกาแฟ มาถ่ายรูป เสร็จแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ…
คุณออม เจ้าของร้าน Hor Hidden Cafe

เพราะปัญหา Gentrification ไม่ใช่แค่เมืองเจริญขึ้น ของใหม่มาของเก่าไป แต่มันคือการทำให้พื้นที่หนึ่งแพงเกินไป จนคนอีกกลุ่มหนึ่งสู้ราคาไม่ไหวต้องย้ายออก ถ้าผู้ว่าฯ หรือหน่วยงานรัฐใด ๆ ที่มีประสิทธิภาพมีอยู่จริง เราก็ขอความหวังจะได้เห็นการแทรกแซง โครงการช่วยเหลือทำอย่างไรให้คนเท่าเทียมกัน แบบที่เห็นในประเทศอื่นเขาบ้างเถอะ

“ช่วงวาเลนไทน์เรางานเยอะกว่าเดิมหลายเท่าครับ เป็นเหมือนกันแบบนี้ทุกร้าน ตั้งแต่วันที่ 10 เป็นต้นมา จากที่ทำกันสองคน ก็ต้องเพิ่มเป็นห้าคน ชวนน้อง ๆ มาเร่งทำตามออเดอร์ ต้องคิดแบบแพตเทิร์นสำหรับแต่ละปี เป็นแบบนี้กันมาหลายปี ทำกันจนดึกดื่นหรือไม่ได้นอนนี่เป็นเรื่องปกติ พอหลังวันที่ 14 ก็จะค่อย ๆ ซาลง

พี่จบมาทางด้านศิลปะ จาก มช. จำได้ว่าวิชาที่ชอบที่สุดตอนนั้นคือการจัดดอกไม้ รู้สึกมีความสุขกับมันมาก งานแรกที่ได้ทำคือ จัดดอกไม้ในโบสถ์ หลังจากนั้นก็ย้ายมากรุงเทพ แต่ก่อนร้านเราอยู่ตรงห้องแถวตรงปากซอยครับ เดี๋ยวนี้เขาทุบกลายเป็นคอนโดนานแล้ว ก็เลยย้ายมาตรงนี้ 14 ปีแล้ว ลูกค้าแถวนี้ก็จะรู้จักกันจำกันได้ ชาวต่างชาติที่อยู่คอนโดก็จะบอกต่อกัน

งานจัดดอกไม้มันเหมือนเราได้ความสุขสามต่อนะ คืองานพี่มันได้อยู่กับสิ่งสวย ๆ งาม ๆ เป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้วในแต่ละวัน พอลูกค้าที่สั่งมารับแล้วเขาแฮปปี้เราก็มีความสุข พอลูกค้าเอาไปให้คนของเขา แล้วเขาแฮปปี้ ส่งรูปมาให้ แท็กอินสตาแกรมมาให้ดู พี่ก็มีความสุขไปอีกทอดนึงครับ“

“If you throw curry into a bin with recyclable plastic trash, then it’s game over. That plastic won’t be able to live again, it will sit for a long time alongside the rotting food waste. I know dealing with household waste can be head-spinning but for organic waste, the minimum you need to do is to separate the bins.

We Thais have a popular misconception that “It’ll all be thrown together in the end anyway.” I can’t guarantee that there is not a single trash truck in Thailand that does that, but if you separate stuff out, at least the plastic has a chance of going to a recycling center. There is no country in the world that has a super system where you can throw all the trash together and it can sort itself.

The most environmentally friendly way to dispose of food waste is to turn it into fertilizer. There is both art and science involved in this – but it’s not too complicated to try. Remember that when the food is rotten in the landfill, it produces methane which contributes to climate change.”

“พอผมบอกว่า ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักดนตรีอิเล็กโทรนิกส์ คนจะคิดว่า ผมคงจะต้องทำงานด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อหาเงิน และทำงานดนตรีเพื่อความสุขแน่ ๆ แต่จริง ๆ แล้วไม่เลย ผมชอบมีความเป็น “เนิร์ด” กับทั้งสองอย่างพอ ๆ กัน งานที่ผมทำจะต้องไปประจำที่ประเทศต่าง ๆ พอไปที่ประเทศนั้น ผมก็เป็นนักดนตรี แต่งเพลง และแสดงสดในงานที่นั่น มันก็ทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรม ผู้คน ของแต่ละประเทศในระดับที่ลึกขึ้นไปอีกด้วย

แต่ผมไม่ใช่ดีเจนะ ผมไม่ชอบตามใจคนขนาดนั้น งานดนตรีที่ผมเป็นเหมือนการสร้างงานศิลปะเพื่อสนองความเนิร์ดของตัวเองมากกว่า

ผมเดินทางบ่อย ตั้งแต่เด็กจนโต พ่อแม่ของผมเป็นคนบังกลาเทศที่มาตั้งถิ่นฐานในอังกฤษ แน่นอนว่าด้วยหน้าตาของผม ทำให้ถูกเลือกปฏิบัติบ้างในบางประเทศ โดยเฉพาะในสนามบิน ซึ่งผมเข้าใจนะ แต่พอได้พูดแล้วคนจะรู้ทันทีว่าผมเป็นคนอังกฤษคนหนึ่ง การเดินทางมาก ๆ ก็ทำให้เราไม่สามารถสานสัมพันธ์กับผู้คนในแต่ละประเทศได้ยืนยาวนัก แต่สำหรับประเทศไทย ซอยอารีย์ ผู้คนที่นี่และความสัมพันธ์ปัจจุบัน ผมวางแผนและหวังว่าจะได้อยู่แบบไม่ต้องไปไหนแล้วครับ”