Author

Harmish

Browsing

ความทรงจำที่ดีที่ผ่านมาไม่นานมานี้ คือการได้นั่งกินมื้อเที่ยงกับเพื่อนบ้านที่รู้จักใหม่อย่าง เชฟเบลล์ แห่งรายการ Masterchef Thailand เป็นการพูดคุยที่ทั้งสนุกและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ เพราะยิ่งคุยก็ยิ่งเจอเรื่องน่าทึ่งเกี่ยวกับผู้หญิงคนนี้เต็มไปหมด

บ่ายหนึ่งที่อากาศร้อนจัดอีกตามเคย ฉันอยู่ที่ร้าน Kenny’s ร้านใหม่ที่เพิ่งเปิดที่พหลฯ ซอย 5 แบบหมาด ๆ ตรงข้ามกับ Feast Rajchakru นี่เอง การตกแต่งสีส้มสว่างสไว กำแพงอิฐ และเพลงอินดี้ป็อป พอจะทำให้เดาได้ไม่ยากว่านี่คือร้านอาหารสไตล์ คอมฟอร์ทฟู้ด แบบทานง่าย มากับเพื่อน ๆ มีคราฟท์เบียร์ดี ๆ มีฉายบอลให้ดู เผลอแปปเดียวอาจอยู่จนร้านปิด (ตีสาม) เอาได้ง่าย ๆ นี่แหละคือคอนเซปต์ของร้านใหม่ร้านนี้ เป็นจุดนัดพบที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนตลอดตั้งแต่เปิดมาได้ไม่ถึงสองเดือนที่ผ่านมา  

ฉันมีสัมภาษณ์ เชฟเบลล์ พิมพ์ทิพย์ เป้าศิลา หนึ่งในเชฟรับเชิญประจำเดือนนี้ของร้าน Kenny’s มีโปรเจ็คที่เรียกว่า Kenny’s & Friends ซึ่งเป็นการวางแผนจะร่วมมือกับเชฟ ศิลปิน เดือนละคนเพื่อรังสรรค์อะไรสนุก ๆ ออกมาให้ไม่ซ้ำกันในแต่ละเดือน และเชฟเบลล์คือคนแรกสำหรับโปรเจ็คนี้ เธอออกแบบเมนู 5 จาน ทั้งพิซซ่า เซวิเช่ ไปจนถึงไส้อั่วทอด ทั้งหมดได้รับแรงบันดาลใจมาจากกลิ่น รส และวัฒนธรรมของภาคเหนือที่เธอไปอยู่มาเป็นเดือนเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ 

เบลล์ เป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันในรายการทีวีสุดโหด อย่าง Masterchef Thailand รายการที่สร้างชื่อเสียงและฐานแฟนคลับให้เธอไปไม่ได้น้อย แต่สิ่งฉันกลับรู้สึกตื่นเต้นมากกว่าที่รู้ว่า บ้านเธออยู่ในซอยราชครูนี่เอง

ครูสอนทำอาหารคนแรก: คุณยาย และทีวีแชมเปี้ยน

“ตอนเด็กเบลล์โตมากับยายค่ะ ยายเป็นคนเลี้ยง เพราะพ่อกับแม่ไปทำงาน คุณยายเป็นแม่หม้ายที่เลี้ยงลูก 5 คน แกจะเก่งเรื่องการทำอาหารมาก เบลล์ก็ช่วยยายเด็ดกระเฉด สอนให้จุดเตา จำได้ว่าเมนูเด็ดเลยคือ ปลาทอดขมิ้น กับต้มส้ม สูตรยะลาของคนยาย พอคุณยายป่วยติดเตียงและเสียไป เบลล์ก็เลยรับหน้าที่ทำอาหารให้ที่บ้านแทน พ่อแม่กลับมาเราก็ทำอาหารให้ อยู่กับพี่ชายปิดเทอม เราก็ทำข้าวเที่ยงให้พี่ชายกิน ตอนนั้นคือประถมนะ”

พิซซ่าหน้าข้่าวซอยสูตรเชฟเบลล์ เมนูพิเศษของร้านที่อร่อยอย่างบอกใคร

เบลล์ออกตัวว่าเป็นเด็กติดทีวีคนหนึ่ง และรายการที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำอาหารคือรายการแข่งขันสุดคลาสสิกของยุค 90 อย่าง ทีวีแชมเปี้ยน ทำให้เธอได้รู้จักเมนูญี่ปุ่นอย่าง ทงคัตสึ เทมปุระ คงไม่ต่างอะไรกับเด็กยุค 90 ทั่วไป แต่ที่ต่างคือ เธอเห็นแล้วลองทำตามดูบ้างจริง ๆ วัยประถมของเบลล์ คือการทำอาหาร ทดลองหยิบโน้นผสมนี่อยู่คนเดียวในครัว และทำขนมไปขายเด็กข้างบ้าน เพื่อนที่โรงเรียน 

เอาจริงนะ ถ้าคุณผู้อ่านอยู่ในเหตุการณ์ ได้เห็นสายตาคุณเบลล์ตอนเล่าเรื่องพวกนี้ จะรู้เลยว่าเธอสนุกกับการทำอาหารจริง ๆ 

ทางที่ไม่ได้เลือก

พอเบลล์กลายเป็นวัยรุ่น ฝีมือและความชอบในการทำอาหาร ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป แต่เบลล์มองว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบทำอาหารทานเองในบ้าน ให้เพื่อนและครอบครัวมากกว่า เส้นทางการเป็นเชฟจึงไม่ใช่ช้อยส์มาตั้งแต่แรก

“จบการเงิน แล้วก็ไปต่อมาร์เก็ตติ้งค่ะ ไม่ได้เรียนทางด้านอาหารโดยตรงเพราะที่บ้านเขาค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ บ้านเบลล์เขาเป็นข้าราชการกันทั้งคู่เลย เขาก็กังวลว่าถ้าเป็นเชฟจะมั่นคงไหม รายได้เป็นยังไง ส่วนตัวเราเองก็รู้แค่ว่า เป็นเชฟคือการเปิดร้านอาหารหรือเปล่า ซึ่งทำให้เราไม่กล้าเต็มร้อยที่ไปทางสายเชฟ เพราะก็ไม่ได้มีเงินทุนมาก แต่ก็ยังทำอาหารให้พ่อแม่กินตลอดนะ ทุกเสาร์อาทิตย์ก็ทำพาย ทำเค้ก ลองหาดูเอาจากนิตยสารแม่บ้านอะไรแนวนั้น”

เบลล์เรียนจบและได้งานแรกเป็น data analyst งานแรกที่ทำให้กลับบ้านมาร้องไห้ทุกวัน เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เธอชอบเลย 

“จนกระทั่งดูทีวีแล้วมาเจอช่อง Asian Food Network เขากำลังหาพิธีกร นี่ก็เป็นเด็กติดทีวีอยู่แล้วเคยดูตลอด แอบคิดในใจว่าทำไมเขาไม่มีคนที่ทำอาหารไทยได้ในช่องนี้เลย สุดท้ายเลยตัดสินใจออกจากงานแล้วสมัครเลย สรุปว่าติดท็อป 5 จาก 800 กว่าคนที่สมัครมาจากทั่วเอเชียเลย

สุดท้ายก็ได้มีรายการเป็นของตัวเองอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ว่าไม่ได้ชนะจนผ่านเข้ารอบสุดท้าย ตอนนั้นเรารู้สึกกดดันตัวเอง ไม่เป็นตัวของตัวเอง เรากังวลไปหมด คนโน้นเขาภาษาแบบเนทีฟเลย คนนี้เขาเป็นเชฟมาก่อนมีประสบการณ์ คนนั้นเขาอายุมากกว่า มัวแต่คิดฟุ้งซ่านไปเองว่าเราจะสู้เขาไม่ได้

หลังจากที่แข่งใน Asian Food Channel เสร็จ เบลล์บอกกับตัวเองเลยว่า ถ้ามีโอกาสมาอีกเราจะเป็นตัวของตัวเองอย่างร้อยเปอร์เซ็น เราจะมั่นใจในความสามารถตัวเอง ข้างในเป็นยังไงก็ไม่รู้แหละ แต่เราจะมั่นใจไว้ก่อน”

ชอบอันนี้มาก เซวิชเช่กุ้งกับน้ำเสารส เสิร์ฟกับมันฝรั่งทอด

และแล้วโอกาสก็มาถึง: Masterchef Thailand

หลายปีถัดมา รายการ Masterchef Thailand ซีซั่น 5 เปิดรับสมัครในธีม homecook จะรับเฉพาะคนที่ไม่มีประสบการณ์ในอาชีพทางอาหาร ไม่เคยเรียน ไม่เป็นเชฟ ไม่เคยเปิดร้านมาก่อนเท่านั้น เรียกว่าโจทย์นี้ออกแบบมาเพื่อเธอเลย โอกาสมาก็ต้องรีบตะครุบไว้ทันที

“รายการเขาอยากให้เราเป็นตัวของตัวเองสุด ๆ อย่ากั๊ก ที่นี่เป็นเซฟโซนที่อนุญาติให้คุณได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ บางอย่างสถานการณ์ปกติเราก็จะไม่คิดอะไร ไม่พูดอะไร หรือบางเรื่องเราก็จะปล่อยผ่าน แต่ในรายการคือมีไรเราก็พูดเลย อยากแสดงสีหน้าอะไรออกมาก็ทำเลย ตัดความเกรงใจออกไป ซึ่งเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันสนุกจังวะ”

“มันปรับ mindset เบลล์เลยนะ ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่าเราไม่มีทางเอาดีด้านอาหารได้หรอก ถึงแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราชอบ ความรู้ทางสายอาชีพก็ไม่มี มีแต่แพสชั่นล้วนๆ แต่พอออกมาจากมาสเตอร์เชฟ เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้น ก็มีแต่คนทักเข้ามาว่าเมื่อไหร่จะทำของขาย อยากชิมฝีมือการทำอาหารที่เราทำ ทำให้เราเชื่อว่าถ้าเราจะทำอะไรในด้านอาหาร เราทำได้นะ”

ถึงแม้ว่าเบลล์จะไม่ได้ชนะซีซั่นนั้นแต่ก็ไปได้ไกลทีเดียว นอกจากนี้ยังได้แฟนคลับเป็นกระบุงในโซเชียลมีเดีย ที่ชื่นชอบในบุคลิก ยิ้มรอยกว้างๆ และเสน่ห์ปลายจวักของคนคนนี้

“หลังจากจบมาสเตอร์เชฟมานี่ก็ร้อนวิชาไง ยังไปเปิดบูธที่ Ari Weekend Market สอนทำขนมไทยอยู่เลย ประมาณสองปีที่แล้วเบลล์ทำพื้นที่ส่วนหนึ่งในบ้านแฟนที่ซอยราชครูให้เป็น cooking studio ของเราเอง ก็ได้เจอกับเพื่อนบ้านที่น่ารักอย่างพี่จอม พี่เป้า เจ้าของร้าน แม่ยุ้ย ซึ่งอยู่ใกล้บ้านมาก ๆ เราว่าอารีย์มันเป็นย่านที่มีความเป็นคอมมิวนิตี้ไม่เหมือนที่ไหนดี”

A Friend of Kenny’s

Kenny’s เป็นร้านใหม่ที่เพิ่งเปิดเมื่อเดือนพฤษภา 2023 นี้เอง เป็นร้านที่บอกต่อไปเร็วมาก โดยเฉพาะบอกต่อว่าร้านนี้เปิดถึงตีสาม คุณยู เจ้าของร้าน ผู้มีประสบการณ์อยู่ในวงการอาหารและเครื่องดื่มมาร่วม 20 ก็นั่งอยู่ในวงสนทนากับเราด้วย คุณยูเคยสร้างชื่อเสียงให้กับร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังอย่าง 25 Degrees นี่เอง

คุณยู เจ้าของร้าน Kenny’s ก็มานั่งคุยกับเราด้วย

“ผมชอบอาหารที่มันสบายใจอ่ะ กินกับเพื่อน ๆ วางบนโต๊ะแล้วทุกคนมาแย่งกัน ผมชอบบรรยากาศแบบนี้ สำหรับที่ Kenny’s ผมอยากให้เป็นร้านอาหารประจำของละแวกนี้ เราตั้งราคาที่อยู่กึ่ง ๆ ระหว่าง comfort food กับ fine dining คือเราไม่ได้บอกว่าราคาอาหารเราถูกนะ แต่คนกิน กินแล้วต้องรู้สึกว่าคุณภาพมันแพงกว่าที่เขาเสียเงินซื้อไป”

คุณยูเสริมเกี่ยวกับร้านอาหารใหม่ของย่านแห่งนี้ ขณะที่เบลล์ก็เริ่มลงมือทานพิซซ่าหน้าข้าวซอยที่เธอคิดเองที่อยู่เบื้องหน้า

“ส่วนที่ร้าน Kenny’s เนี่ย เบลล์ไม่ได้รู้จักมาก่อนนะ มันเป็นทางเข้าบ้าน ก็เลยผ่านบ่อย ก็มอง ๆ คิดว่าร้านใหม่นี่มาเปิดจะขายอะไรนะ หน้าตาเหมือนขายไก่ทอด รูธเบียร์ เชียร์กีฬาอะไรประมาณนั้น ก็ลองมากินกับแฟน มาชิมแล้วเราก็โอเค ร้านนี้เป็นร้านที่กลับมากินซ้ำได้ มีคืนนึงที่ร้านฉายบอลลิเวอร์พูลพอดี เราก็เลยนั่งอยู่จนดึกหน่อย (ร้านปิดตีสาม) ก็บังเอิญได้คุยกับพี่ลูกค้าคนนึงเขาแนะนำให้รู้จักคุณยูเจ้าของร้าน พ

อได้คุยแล้วรู้สึกว่าแนวคิดในการทำอาหารของเราตรงกัน คือเราชอบเรียลฟู้ด อาหารที่ไม่ยาก ไม่ต้องประดิษฐ์ประดอย ไม่ต้องยึดติดกับอะไรเดิมๆ หรือต้องบรรยายอะไรมากขนาดนั้น เราชอบอาหารที่กินง่าย เข้าถึงคนทาน และชอบใช้ของดีในการทำอาหารเหมือนกัน”

เบลล์พูดไปก็ขำคิกคักไป แอบยอมรับถึงความเมาของตัวเองตอนนั้นที่ตอบตกลงโปรเจ็คนี้ไป

ให้ทายว่าทำอะไร …เช็ดกระจกจ้า

“พอได้คุยแล้วรู้สึกว่าแนวคิดในการทำอาหารของเราตรงกัน คือเราชอบเรียลฟู้ด อาหารที่ไม่ยาก ไม่ต้องประดิษฐ์ประดอย ไม่ต้องยึดติดกับอะไรเดิมๆ หรือต้องบรรยายอะไรมากขนาดนั้น เราชอบอาหารที่กินง่าย เข้าถึงคนทาน และชอบใช้วัตถุดิบที่ดีในการทำอาหารเหมือนกัน

คุยไปซักพักคุณยูเขาก็บอกว่าเขาอยากจะมีเชฟรับเชิญเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ละเดือน เราเห็นแล้วแบบรู้สึกอยากเล่นด้วย ก็เลยตอบตกลงไปค่ะ เบลล์ก็ลองคิดเมนูที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการไปอยู่จังหวัดทางภาคเหนือมาเมื่อไม่นานมานี้ เราได้ใช้วัตถุดิบจากชุมชน อย่างเช่นไส้อั่ว พริกกะเหรี่ยงย่าง เม็ดมะตูมแขก เอาผักชีลาวมาใส่พิซซ่า เอามาประยุกต์ใช้กับเมนูต่าง ๆ ของร้าน และเราได้เล่าเรื่องผ่านอาหาร และเลือกวัตถุดิบที่ดีมาให้ลูกค้าค่ะ”

“เชฟเบลล์”

จะหางั้นงี้ก็ได้นะ ความคิดเราในตอนแรกก่อนจะมาสัมภาษณ์ การเป็นเชฟนี่มันคือจุดสูงสุดของสายอาชีพอาหารเลยนะ คงต้องประสบการณ์ที่สะสมมานาน การเข้าร่วมรายการทำอาหารจะทำให้เราได้สถานะเชฟเลยหรือ? 

กลายเป็นว่าเบลล์เองก็ใคร่ครวญกับคำถามนี้มาพอสมควรเช่นกัน

“เราทำอาหารกินเองที่บ้านมาตั้งแต่เด็กอ่ะ แต่เอาจริง ๆ เราไม่เคยกล้าเรียกตัวเองว่าเชฟเลยนะ จนกระทั่งมาทำที่ Kenny’s เนี่ยแหละ เรามองว่าตอนนี้เราทำอาหารอย่างดีด้วยความชอบ เราออกแบบแต่ละเมนูจากความคิดและประสบการณ์ของเรา เบลล์ชอบอาหารวัตถุดิบบ้าน ๆ ที่หาได้ง่าย ๆ มาใส่ไอเดียใส่ความสนุกลงไป เราออกแบบเมนูที่ทำให้คนนึกถึงธรรมชาติที่ภาคเหนือ นึกถึงภูเขาอยากให้คนกลับมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของภาคเหนือบ้าง เพราะต้นปีเราเจอปัญหาฝุ่นควันกันหนักมาก เบลล์ซื้อปลาตรงจากแพปลาเอง คัดวัตถุดิบเอง ลูกค้าทานอาหารเราแล้วเขาแฮปปี้ มีความสุข กลับมาทานซ้ำ อันนี้คือคำว่าเชฟสำหรับเรา ซึ่งถามว่าภูมิใจไหม บอกเลยว่า มากกก!”

เชฟเบลล์ที่หอบเอาชุดเชฟมาถ่ายแบบเต็มยศด้วย (แค่ท่อนบนนะ!)

ข่าวการปิดตัวของร้านอาหารที่อยู่คู่อารีย์สัมพันธ์อย่าง Pla Dib มาถึงหูพวกเราอย่างสายฟ้าแลบ และ ถูกส่งต่อ ๆ กันปากต่อปากอย่างรวดเร็ว “หา! ปิดแล้วเหรอ” “ใช่ เขาจะสร้างคอนโดน่ะ” “แล้วพี่เขาจะไปทำอะไรต่อ” บทสทนาแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในระยะเวลาไม่นาน จนทำให้เพื่อนบ้านอารีย์ต้องติดต่อ “คุณพริว” เจ้าของร้านปลาดิบ เพื่อหาถ้อยแถลงเกี่ยวกับปิดตัวลงของร้านอาหารแห่งนี้หลังจากยืนหยัดอยู่เกิน 20 ปีมาให้ได้

เมื่อคิดดูแล้ว เราไม่เคยมีโอกาสได้ขอสัมภาษณ์ใครจากร้านนี้มาก่อนเลย ทั้งที่เป็นร้านดังร้านหนึ่งของย่าน เสียใจที่ต้องบอกกับตัวเองว่า หากไม่ได้ติดต่อไปครั้งนี้ ก็คงจะได้พูดถึงกันในฐานะอดีตเสียแล้ว วันนี้เราจึงอยากจะถ่ายทอดเรื่องราว แรงบันดาลใจ และก้าวต่อไปของคุณพริวเจ้าของร้าน มาเล่าสู่กันฟัง

ร้านปลาดิบ (Pla Dib) เป็นร้านอาหารแนวเอเชี่ยนฟิวชั่นฟู้ด ตั้งอยู่ ณ บ้านเก่าหลังหนึ่งที่อยู่ตรงปากทางเข้ากรมประชาสัมพันธ์ เป็นแหล่งแฮงค์เอ้าท์ในตอนกลางคืน กับอาหารแต่ละเมนูที่ถูกคิดค้นขึ้นมาอย่างดี และคัดสรรวัตถุดิบมาอย่างตั้งใจ และไม่ต้องแปลกใจ ถ้ามานั่งทานอาหารที่นี่แล้วได้กระทบไหล่ดาราดัง นักการเมือง และบุคคลจากวงการสร้างสรรค์มากมาย

“เปิดมา 20 กว่าปีแล้วนะ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากอ่ะ เป็นคนชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้วด้วย บ้านอยู่แถวนี้ ก็อยากให้มีร้านแถว ๆ บ้านบ้าง จะได้ไม่ต้องไปถึงทองหล่อตลอด สมัยก่อน (ปี 2000) แถวนี้ไม่มีอะไรเลย กรมประชาสัมพันธ์ก็ไม่มีนะ ตรงข้ามร้านนี่ก็มีกั้นสังกะสีไว้ เดินเข้าไปก็เป็นเสาส่งสัญญาณ ผมเข้าไปปั่นจักรยานเล่นกับเพื่อนประจำ จะมีอยู่ร้านนึงที่เก่าและอยู่มานานจริง คือร้านสวนกุหลาบ ที่ย้ายมาจากสโมสรทหารบก”

อารีย์ในยุคนั้น ไม่มีร้านอาหารให้เลือกมากมาย ไม่มีคอนโด สิ่งเดียวที่อู่ฟู่ที่สุดคือบ้านหลังใหญ่ของนายทหารและนักการเมืองที่เรียงรายกัน เด็กแต่ละบ้านจะรู้จักกัน และออกมาเล่นกันเป็นประจำ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณพริวเอง ก็มาจากตระกูลข้าราชการที่มีเอี่ยวในการเมืองอยู่ไม่น้อย แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติของคนแถวนี้

“คุณพ่อเป็นคนชอบทำอาหาร และชอบชิมอาหารครับ ผมก็เลยมีโอกาสได้ไปร้านอาหารที่หากินยาก ๆ ต่าง ๆ สมัยก่อนอาหารฝรั่งเศส อิตาเลี่ยน นี่มีอยู่ไม่กี่ที่ครับ ต้องไปกินถึงในโรงแรมเลย ส่วนคุณย่าผมแกเคยเป็นคนสนิทและดูแลเรื่องอาหารในวังของเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ที่สุขุมวิท ครอบครัวเราเลยได้รับการถ่ายทอดสูตรอาหารจากคุณย่า รวมถึงความชื่นชอบด้วย”

(ใครที่อยากทานอาหารตำรับคุณย่าคุณพริว ให้ไปที่ร้าน “อย่างเก่าก่อน” ที่พหลโยธิน 14 ซึ่งเป็นร้านของลูกพี่ลูกน้องคุณพริวนั่นเอง)

“ได้มาทำอาหารจริง ๆ ช่วงไปเรียนต่างประเทศ พวกเพื่อน ๆ รูมเมทมันกินอาหารอะไรที่แบบ แย่อ่ะ ฮ่าๆ เราก็เลยเป็นคนทำอาหารให้เพื่อน ๆ ตอนที่เรียนด้วย แล้วคือในยุคนั้นมันไม่ค่อยมีร้านอะไรดี ๆ นะ โดยเฉพาะร้านอาหารเอเชีย ถ้าไม่อยู่ในเมืองใหญ่จริง ๆ หากินยาก”

คุณพริวเรียนต่อด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ที่อเมริกา ในช่วงปลายยุค 90s ในปี 1997 ข่าวร้ายจากทางบ้านก็มาถึง ว่าคุณพ่อประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ผนวกกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ทำให้คุณพริวต้องรีบกลับมาช่วยคุณแม่ที่่บ้านและทิ้งการเรียนที่อเมริกาไป

พื้นที่บ้านตรงนี้ สมัยแรก ๆ มันเป็นร้านเหล้าชื่อ Johnny Walker แล้วก็เปลี่ยนเป็นชื่อ Forget Me Not แบบว่าเป็นร้านโบราณ ๆ มีโต๊ะพูลอะไรแบบนั้น ไม่เคยเห็นตอนมันเป็นบ้านคนเลยนะ แล้ววันนึงก็เห็นว่า เฮ้ยมันว่างว่ะ อยู่ใกล้บ้านด้วย รู้จักกันเจ้าของที่ด้วย ช่วงหลังจากกลับมาเราก็เป็นดีเจ ทำงานออกแบบ อะไรไป พอมาเจอตรงนี้ก็เลยตัดสินใจเปิดร้านเลย”

“ที่ชื่อปลาดิบ มันเป็นชื่อกลุ่มเพื่อนที่เป็นนักออกแบบเหมือนกันในช่วงนั้น แบบ Raw Fish อ่ะ มันเป็นอะไรที่มันเรียบง่าย เหมือนจะทำง่าย แต่จริง ๆ มันยากและต้องวัดฝีมือและวัตถุดิบมาก ๆ ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อร้านภาษาไทยว่า ปลาดิบ เราไม่ได้โปรโมทอะไรเลย ป้ายหน้าร้านยังไม่มีเลย บางทีเราก็เอาชอล์คไปเขียนชื่อร้านตรงป้ายบ้านเลขที่บ้าง แค่นั้น”

ร้านปลาดิบ ไม่ได้เปิดตัวตูมตาม คนแห่มาถ่ายรูปแชร์ลงโซเชียลมีเดียแบบสมัยนี้ คุณพริวเล่าให้ฟังว่า ร้านในช่วงปีแรก ๆ ก็ “พอไปได้” ในแง่ที่ว่า มันเป็นที่แฮงค์เอ้าท์ของชาวอารีย์ ถ้าอยากจะกินอะไรที่พิเศษหน่อย จะได้ไม่ต้องไปไกลถึงสุขุมวิท ทองหล่อ มันเลยกลายเป็นจุดชุมนุมของคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว และมารู้จักกันที่ร้าน และบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ พอเก็บเงินได้ส่วนหนึ่ง ก็เริ่มตกแต่ง ขยายส่วนนั้น ซ่อมส่วนนี้ ไปเรื่อย ๆ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นงามทั้งหมดในร้านนี้ คือฝีมือการออกแบบและผลิตโดยคุณพริวเอง

“เราเป็นร้านของคอมมิวนิตี้ ก็อยากทำอะไรให้คอมมิวนิตี้นะ อย่างเห็นดงกล้วยข้างหลังไหม แต่ก่อนนี้ มันเคยเป็นป่ารก ๆ แล้วก็มีคนเอาขยะไปเททิ้งกัน มันไม่มีการดูแล โจรขึ้นบ้านกันทั้งแถบเลย บ้างทีโจรก็มากบดานอยุ่ในป่านี้บ้าง เราก็เลยลงทุนเช่าพื้นที่ตรงหลังร้านมาดูแลเอง ทำเป็นกรีนเฮาส์ อะไรต่าง ๆ อยู่ช่วงนึง คนแถวนี้เขาก็ชอบนะ มาช่วยดูแลรดน้ำให้ด้วย แต่มันก็ต้องเช่านะ หลัง ๆ มาบอกว่าจะขึ้นราคา ผมบอกคุณจะบ้าเหรอ”

อย่างไรก็ดี 20 ปีผ่านไป ร้านนี้ผ่านช่วงวัยของการเป็นร้านกลางคืนสุดฮิป แหล่งพักพิงของผู้ตระเวณราตรี มาสู่ยุคปัจจุบัน ยุคที่อารีย์ขึ้นชื่อเรื่องความไฮโซ เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย การรักษาคุณภาพของอาหาร อาจไม่เพียงพอ เมื่อสถานภาพร้านแห่งเดียวในอารีย์ถูกช่วงชิงไปโดยร้านอาหารของผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีการออกแบบทางพานิชย์มาอย่างดีแล้ว

“หลังๆ ก็มีรู้สึกผิดหวังกับอารีย์บ้างเหมือนกันนะ พอเราเริ่มต้นว่าย่านเราแตกต่าง ซอยอารีย์มันเป็นของมันแบบนี้ มันไม่ใช่สุขุมวิท ไม่ใช่ทองหล่อ คนเขามาที่นี่ก็เพราะว่ามันมีความบ้าน ๆ ไม่เหมือนใคร และคนส่วนใหญ่รู้จักกัน แต่ตอนนี้เข้าซอยนี้มามันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับทองหล่อแล้วอ่ะ เราก็พยายามมาหลายครั้งเหมือนกันนะ เรื่องคอมมิวนิตี้ กิจกรรมอะไร แต่มันก็ยังไม่สำเร็จซักที และที่ดินมันแพง คนซื้อที่บ้านเก่ามาทำอย่างอื่นไม่ได้อ่ะ ก็ต้องหวังผลกำไรอย่างเดียว”

เสียงจากคุณพริว หนึ่งในเจ้าของกิจการและผู้อยู่อาศัยซอยในอารีย์สัมพันธ์ ที่มักมีส่วนร่วมในการร่วมออกเสียงทุกครั้งเมื่อมีการนัดประชุมเกี่ยวกับผลกระทบทางชุมชนเมื่อมีสิ่งก่อสร้างใหม่ขึ้นในอารีย์ จนในบางครั้งชาวบ้านหลายคนฝากฝังให้เขาเป็นตัวแทนเสียงให้ด้วย ในอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อนบ้านอารีย์ก็สามารถยืนยันได้เลยประสบการณ์การพูดคุยกับ ฝั่งนักอสังหาริมทรัพย์ ว่าชาวอารีย์นั้นหวงแหนและเอาใจใส่ด้านความเป็นอยุ่ของพวกเขาเป็นอย่างดี ไม่ต้องพูดถึงโครงการทีอยู่อาศัยหลายโครงการในที่แห่งนี้ ที่อยู่ในสถานะ “ยังไงก็ไม่ผ่าน” มาหลายปี

อารีย์กำลังสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มบ้านหลังใหญ่อันเงียบสงบ หรือ ลูกค้าร้านปลาดิบกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง อาจยังไม่คุ้นเคยเติบโตมากับอาหารของทางร้าน อาจจะเป็นบทเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ร้านนึ้ต้องปิดตัวลง ปลายเดือนธันวาคม 2022 นี่เอง ที่คุณพริวได้รับข่าวจากเจ้าของว่า ได้ขายบ้านหลังนี้ให้กับนักลงทุนไปแล้ว และเขามีเวลาไม่กี่เดือนที่จะปิดกิจการ บ้านหลังนี้เป็นที่ดินของตระกูล เจ้าของที่อายุเยอะ ๆ กันหมดแล้ว และถูกเปลี่ยนมือให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน บ้านหลังนี้จึงถูกขายเพื่อทำคอนโดต่อไป

“ตอนนี้ผมอายุเยอะแล้ว ไม่ได้มีกำลังมากเหมือนก่อน หลังจากนี้ก็คงไม่ทำอะไรใหญ่โต แต่ก็คงเป็นเรื่องอาหารที่ชอบเหมือนเดิมครับ”

กิจการใหม่ภายใต้เจ้าของปลาดิบ นั้นเราพอจะบอกได้ว่าจะเป็นร้านข้าวมันไก่ชื่อว่า เล้า เร็ว ๆ นี้ เราจะได้เห็นร้านเล็ก ๆ ในระยะไม่ไกลจากอดีตร้านปลาดิบแห่งนี้มากนัก และเชื่อเลยว่า ความอร่อย และบรรยากาศสนุก จะยังคงมีให้กับชาวอารีย์และผู้ผ่านไปมาเหมือนเดิมอย่างแน่นอน